Saturday, March 18, 2006

Moralizing Democracy or Democratizing Morality ? Or Beyond?

Moralizing Democracy or Democratizing Morality ? Or Beyond?[1]
By FxxkNoEvil
1
(นี่อาจเป็น Debate ทางทฤษฎีการเมืองที่ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกับสถานการปัจจุบัน ถ้าจะถามว่า What is to be done? นั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในที่นี้ )ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้ก็คือการเรียกร้องทาง จริยธรรม หรือ ศีลธรรม ในอาณาบริเวณของการเมือง มีผู้คนมากมายทำการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศนั้นมีเพียบพร้อมทั้ง จริยธรรมและ ศีลธรรม คำถามประการแรกนั้นคือว่า ถ้าจะไปถามว่าจริยธรรม หรือ ศีลธรรมที่ผู้คนเรียกร้อง นั้นมันคืออะไรที่เป็นรูปธรรมท่านเหล่านั้นจะตอบได้ไหม? ผมคิดว่าหลายๆ ท่านตอบได้ คำถามต่อมาคือ ทุกๆ ท่านที่ตอบได้นั้นตอบตรงกันไหม ถ้าไม่แล้วมันหมายความว่าศีลธรรมดังกล่าวมันลื่นไหลได้ใช่ไหม? ถ้าศีลธรรมนั้นเป็นได้หลายอย่างแล้วควรไหมที่เราจะทำให้มันเป็นประชาธิปไตย? ถ้ามันลื่นไหลไม่ได้ หลักศีลธรรมต้องมีหนึ่งเดียวแล้ว คำถามก็คือ ประชาธิปไตยนั้นต้องกลายเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ใต้ศีลธรรมหรือ? คำถามประหลาดประหลาดที่ตามมาก็คือ ถ้าการปกครองนั้นต้องอาศัยศีลธรรมที่ตายตัวแล้ว เราจะต้องการประชาธิปไตยทำไมให้มันวุ่นวาย ถ้าเกิดมาตรฐานการปกครองอยู่ที่ศีลธรรมแล้ว ทำไมเราไม่ให้ผู้มีศีลธรรมปกครองไปเลย ไม่ต้องมาเลือกตั้งให้มันวุ่นวาย แถมกระบวนการดังกล่าวนั้นอาจนำมาซึ่งผู้ไม่มีศีลธรรม คนอย่าง ประเวศ วะสี นั้นจะทำการแก้ปัญหาตรงนี้โดยการวางสร้างความสัมพันธ์ที่จำเป็น (Necessary) ระหว่างประชาชนกับศีลธรรม
ผมคิดว่าการวางประชาชนคู่กับศีลธรรมตรงนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะอ่อนในรากฐานทางความคิดมาก เป็นการกล่าวอ้างธรรมชาติมนุษย์เอาอย่างดื้อๆ โดยไม่ต้องสนใจเลยว่ามันมีข้อถกเถียงอันไร้สัญญาณแห่งการยุติมานานแค่ไหนถึงธรรมชาติมนุษย์ (ผมคงไม่ต้องยกตัวอย่างนะ)
ผมไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดแบบนี้มากๆ เพราะ มันไม่สามารถอธิบายการได้ผู้ปกครองที่ไร้ศีลธรรมได้อย่างแน่นอน
คนเหล่านั้นอาจโยงประเด็นไปเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาว่า "คนนั้นยังมีการศึกษาไม่พอ" (เป็นการปรามาสวุฒิภาวะทางปัญญาของประชาชนอย่างสุภาพและนิ่มนวลที่สุด)
คำถามของผมคือ แล้วเท่าไหร่ถึงจะพอ? ผมคิดว่าขนาดทุกคนเป็นปัญญาชนแล้วมันก็ยังไม่พอเลย มันจะทำให้ศีลธรรมที่ตายตัวนั้นง่อนแง่นด้วยซ้ำ ผมคิดว่าทั้งหมดนี่ไม่ใช่ทางออก ... หรือที่จริงแล้วระบบเรานั้นเองที่มีปัญหา?
เราต้องไปให้ไกลว่านั้นหรือเปล่า? หรือ เราก็เพียงแค่ต้องกลับไปสู่แนวคิดแบบสภาวะสมัยใหม่ที่ต้องแยกอาณาบริเวณศีลธรรมนั้นออกจากการเมือง? ผมตอบแทนใครไม่ได้ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยมันก็คงจะมีสภาวะที่ดีกว่าสภาวะอันลักลั่นของศีลธรรมและการเมืองอย่างทุกวันนี้
2
ผมไม่ได้ โจมตีการกระทำของคนทุกวันนี้ว่ามันถูกหรือผิด แต่ประเด็นมันอาจจะเป็นว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในพื้นที่สีเทาที่เอื้ออำนวยให้กับการลักลั่นอันนานัปการหรือเปล่า? จริงแล้วเราต้องเลือกสักอย่าง แต่เราดันไม่เลือกสักอย่างเราจะเอาทั้งคู่ ถ้าพูดในภาษาแบบหนึ่งก็คือ เราจะมีเค้กของเรา และ เราก็จะกินมันไปพร้อมๆ กัน (Have our cake and eat it.) ซึ่งของอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ผมคิดประเด็นที่ผมยกนั้นมันถึงรากถึงโคน (Radical) กับบริบทการเมืองไทยที่ยังเรียกร้องให้ผู้ปกครองนั้นมีทศพิศราชธรรมมาก แต่ถ้าพูดตรงๆ แล้วก็คือว่าผมคิดว่าวิธีคิดดังกล่าวนั้นมีปัญหาครับอย่างน้อยก็กับประชาธิปไตย เพราะ ระบบดังกล่าวไม่ใช่หรือครับที่จะเอื้ออำนวยให้คนเราเลือก แม้ว่าทางเลือกของเราจะไม่ได้สอดคล้องไปตามหลักศีลธรรมอย่างที่ปัญญาชนอนุรักษ์นิยมหลายๆ ท่านต้องการ ประเด็นของผมก็คือ ระบบการปกครองในแบบประชาธิปไตยนั้นมันเป็นคนละเรื่องกับหลักศีลธรรมครับ ถึงที่สุดแล้วประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าการตัดสินในทางการเมืองทั้งหมดนั้นต้องมีศีลธรรม แต่มันอยู่ที่ทางเลือกกับความรับผิดชอบต่างหากครับ คนนั้นเลือกผู้นำเลวๆ ทางศีลธรรมได้ครับ ไม่ผิดหลักประชาธิปไตย ประเด็นอยู่ที่ว่าคนนั้นตระหนักรู้ (conscious) ถึงทางเลือกของเขาหรือเปล่า? ถ้าไม่ตรงนั้นถึงเป็นปัญหาครับ (นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องการเป็นตัวแทน [representation] ที่ผมไม่อยากพูดเดี่ยวยาว และ จริงๆ แล้วประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามศีลธรรมครับแม้จะอาจคาบเกี่ยวกันได้ สิ่งที่ประชาธิปไตยนั้นจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกันออกไปไม่ใช่ความเลวทางศีลธรรมครับ แต่เป็นความไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก)ผมคิดว่าถ้าทุกคนนั้นมีหลักศีลธรรมที่แน่นอนตายตัวแล้วเราก็คงไม่ต้องมีประชาธิปไตยกันอีก เพราะ ว่านายของทุกคนคือ "ศีลธรรม" ไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" หรือว่าท้ายที่สุดแล้วผมนั้นก็ยังตกอยู่ใน สภาวะสมัยใหม่ (Modern) ในสายตาแบบหลายๆ คนที่กล่าวอ้าง (Claim) ตัวเองว่าเป็น หลังสมัยใหม่ (Postmodern) กันแล้วที่ผมยังแยกศีลธรรมกับการเมืองอยู่? ... ปัญหาของผมคือว่าเราต้องไปไกลกว่านั้นครับแม้ทางออกของเราจะไม่สามารถเป็นที่เข้าใจได้กับคนทั่วๆ ไป

3

ผมต้องออกตัวก่อนว่าประเด็นหลักที่ผมยกในนั้น เป็นการพยายามเข้าหาประเด็นเรื่องการแทรกแซงของศีลธรรม ,stricto sensu, (in the strict sense) ในอาณาบริเวณของการเมือง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็น Foreign Body ที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งกับความคิดในแบบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่า "จริยธรรม" (as oppose to morality) ในทางการเมืองนั้นไม่มี ไม่ต้องมี หรือ ไม่สมควรจะมี ตรงข้ามครับผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ การใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นมันต้องมีวิถีการปฏิบัติ (Code of Conduct) แน่นอนครับ ประเด็นของผมคือ วิถีในการปฏิบัติ หรือ จริยธรรม (Ethics)ในทางการเมืองนั้นมันเป็นคนละเรื่องกับ ศีลธรรม (Moral) ในแบบศาสนาครับ เพราะถ้ามันเป็นศีลธรรมจริยธรรมชุดเดียวกันแล้ว ถ้าจะพูดให้มันสุดขั้ว (Extreme) ก็คือ เราคงต้องปกครองประเทศด้วย พระ หรือ ไม่ก็คนที่เหมือน พระ กันล่ะครับ ผมคิดว่าการโจมตีทักษิณด้วยเรื่องศีลธรรม จริยธรรมนั้น ในระดับหนึ่งแล้วเป็นเรื่องที่ชวนให้หลงประเด็นครับ มันเป็นการเอาประชาธิปไตยไปอยู่ใต้ศีลธรรมที่มีรากฐานมาจากศาสนาไม่มากก็น้อย อย่างที่ผมบอกว่า ศีลธรรมนั้นเป็น Foreign Body ในประชาธิปไตย มันมีนัยยะในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยในหลักการด้วยประการทั้งมวลที่คนนั้นจะโจมตีทักษิณ หรือ ผู้นำทางการเมืองทั้งปวงด้วยวิธีคิดที่มีรากฐานมาจากศาสนาอย่าง ศีลธรรม (Morality) (ผมค่อนข้างมั่นใจว่าหลายๆ คนนั้นตระหนักตรงนี้แต่ก็ยังทำมันในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในระดับหนึ่งแล้ว ผมขอประณามคนเช่นนั้นในฐานะปัญญาชนครับ) ผมคิดว่าการโจมตีทักษิณภายใต้พื้นฐาน (ground) แบบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ผมรับได้ที่สุดครับ ผมเห็นปัญญาชนหลายๆ ท่านนั้นมีข้อเสนอที่ดีในการโจมตีแบบดังกล่าว แค่ดูว่าระบบทักษิณนั้นทำลายประชาธิปไตยไปอย่างไรนั้นก็พอถมถืดแล้วครับ ไม่เห็นต้องพื่งศีลธรรมเลยในการวิพากษ์ จะว่าทักษิณนั้นทำลาย Trust ที่เป็นรากฐานเสรีประชาธิปไตยก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นทำการ Abuse of Power แล้วทำการแทรกแซงสิ่งที่ควรจะเป็นอิสระในระบบก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นขาด Integrity ก็ว่าไป จะว่าทักษิณนั้นขาดศีลธรรมทางการเมืองก็ว่าไป ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ในทางหลักการแล้วสามารถล้มล้างความชอบธรรมในทางการเมืองได้ทั้งหมดในกรอบแบบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องพึ่งศีลธรรมในการวิพากษ์แม้แต่นิด (สิ่งที่ผมคิดเล่นๆ กับการที่คนนั้นเรียกร้องทศพิศราชธรรมโดยนัยๆ กับนายกก็คือ มันเป็นการ Interpellate นายกให้เป็นเทวดาหรือเปล่าครับ เพราะมาตรฐานดังกล่าวนั้นมันเป็นมาตรฐานที่ใช้ตั้งแต่กษัตริย์แบบเทวราชาไม่ใช่ หรือครับ? พอนายกถูกใช้มาตรฐานดังกล่าวไปด้วยแล้วก็เลยรู้สึกว่าตนนั้นเป็นเทวดาไปกันใหญ่ แต่สิ่งที่หน้าเศร้าก็คือ เทวดาตนดังกล่าวนั้นดันตระหนักถึงแต่ความเป็นเทวะของตน โดยเมินเฉยต่อศีลธรรมที่พ่วงมากับข้อเรียกร้องด้วย เราก็เลยได้เทวดาตัวแสบที่แตะต้องไม่ได้มาพักใหญ่ไงครับ)
[1] ดัดแปลงและปรับปรุงจากข้อถกเถียงในกระทู้ชื่อเดียวกันใน Web board มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออนไลน์ไปดูได้ที่ http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=11359&page=1 ขอบคุณทุกท่านในกระทู้ที่เข้ามาร่วมถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์

5 Comments:

Anonymous Anonymous said...

อย่างว่า การโจมตีเรื่องศีลธรรมมันไว- "Sensitive" ต่อจิตสำนึกของประชาชนทั่วไปมากกว่าเรื่องประชาธิปไตย
เข้าใจว่า ศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่อง"ใกล้ตัว" ประชาชนทั่วๆไปมากกว่าประชาธิปไตย
แต่เพื่อให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองบนฐานที่มีพลัง-หลายๆครั้งถูกเรียกว่า การเมืองภาคประชาชน-การเล่นกับเรื่องที่ Sensitive ที่ว่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ก่อการ

11:24 AM  
Anonymous Anonymous said...

สวัสดีครับ คุณ Fxxk
ขอเมล์หน่อยได้ไหมครับ

2:28 PM  
Blogger fxxknoevil said...

เมลผม fxxknoevil@yahoo.com

10:34 AM  
Anonymous Anonymous said...

เมล์ง่ายๆตรงๆงี้เลยเหรอทำไมผมคิดไม่ถึงนะ 555

7:10 PM  
Anonymous Anonymous said...

ขออนุญาตินำไปโพสต์ต่อที่นอกกรอบนะครับ

8:14 AM  

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast