Thursday, December 01, 2005

การจัดประเภทดนดรีในฐานะการเหมารวม...ที่จำเป็น?

หลังจากอ่านบทความมากมายที่ “เว้นระยะ” ของตัวผู้เขียนและบทความกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ร็อค” ผมก็รู้สึกว่าผม่ต้องเขียนงานอีกชิ้นที่มีความคาบเกี่ยวกับประเด็นที่ผมเล่นมาจนเบื่อแล้วอย่างการจัดประเภทดนตรี ผมขอเริ่มจากที่ผมเคยเสนอไปในบทความของผมแล้วนะครับ

ประการแรก ผมเสนอว่า ความรู้เรื่องการจัดประเภทดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ศูนย์กลาง เราไม่สามารถไล่ไปจนถึงสถาบันที่ผลิตความเป็นจริงเรื่องประเภทของเพลงได้อย่างเด็ดขาด เพราะการผลิตสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไร้ซึ่งศูนย์กลางเป็นอย่างมาก

ประการที่สอง ผมเสนอว่า เรามักจะเรียนรู้ว่าอะไรอยู่ในดนตรีแนวไหนมากกว่าที่เราจะเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ที่เราใช้แบ่งว่าดนตรีแนวไหนคืออะไร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราจะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมารองรับ การจัดประเภทที่เราใช้ แล้วพอเราต้องการที่จะรวบยอดคำอธิบาย (กล่าวคือหาลักษณะร่วมของทุกสิ่งที่เราจัดว่าอยู่ในแนวเดียวกัน) เราก็จะพบว่าเป็นไปไม่ได้ หรือ ถ้าเป็นไปได้มันก็จะกินความเกินไปจนแทบจะไม่บอกอะไรเราเลย และ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นิยามดังกล่าวมันก็จะไปกินความถึงดนตรีที่เราไม่ได้จัดมันไว้ในประเภทดังกล่าวอีกด้วย

แน่นอนว่าสิ่งที่ผมพยายามเสนอนั้นเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะให้มันใช้ได้ในทุกกรณี ผมเห็นอย่างชัดเจนว่าประเด็นเรื่องชายขอบ และ ศูนย์กลางนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ทฤษฎีของผมนั้นจะเน้นไปที่คำอธิบายเรื่องชายขอบเหล่านี้มากกว่า เพราะ คงไม่มีใครเถียงว่า เมทัลลิกา (Metallica) ในยุคแรกๆ นั้นเป็น สปีด/แทรชเมทัลแท้ๆ แต่งานชุดหลังๆ นั้นเป็นเมทัลประเภทไหนก็คงต้องมาถกกัน เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า แพนเทร่า (Pantera) เป็นเมทัลอะไรกันแน่ เพราะ เท่าที่ผมเคยได้ยินคนจัดประเภทวงนี้ ผมได้ยินมาประมาณสี่แนวเป็นอย่างต่ำ เริ่มมาจาก พาวเวอร์เมทัล (Power Metal) แทรชเมทัล (Trash Metal) โพสต์แทรชเมทัล (Post-Trash Metal) สลัดจ์เมทัล (Sludge Metal) (แต่อย่างน้อยๆ ผมก็ไม่เคยทะเลาะกับใครว่า สรุปว่าแพนเทร่าเป็นอะไรกันแน่ เหมือนที่ผมเคยเถียงอย่างตัวชนฝากับคนที่เรียก เรดฮอทชิลลี่เป๊ปเปอร์ (Red Hot Chili Pepper) ว่า ฟังค์เมทัล (Funk Metal) เพราะสำหรับผมในตอนนั้นแล้วเรดฮอทฯนั้นไม่มีอะไรที่ดูจะเป็นเมทัลเลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นวงที่ผมชอบวงหนึ่งก็ตาม)

แน่นอนถ้าเราเห็นว่าทั้งแพนเทร่า และ เมทัลลิก้า เป็นเพียงแค่วง “เฮฟวี่เมทัล” สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นก็จะไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาของผมคือไอ้ “เฮฟวี่เมทัล” ดังกล่าวนั้นมันบอกอะไรกับเราบ้าง เพราะ ในการจัดประเภทในบางรูปแบบนั้น คำว่า “เฮฟวี่เมทัล” นั้นได้รวมไปถึงวง ครีม (Cream) ของป๋าแคลปตัน หรือ วงในตำนานอย่างเลดแชปปลิน (Led Zeppelin) และ ดีฟเพอร์เพิล (Deep Purple)ไว้ด้วย

ดังนั้นในแง่นี้แล้วภายใต้คำว่าเฮฟวี่เมทัลนั้นคงจะไล่ตั้งแต่ เลดแชปปลิน ไป ไอรอนไมเดน (Iron Maiden) โผล่ เมทัลลิกา จนอาจกินความหมายไปถึงพวก นิวเมทัล (Numetal) อย่าง คอร์น (Korn) หรือ ลิมฟ์ บิสกิต (Limp Bizkit) ที่ทำให้ชาวเมทัล “พันธุ์แท้” นั้น ขยะแขยงไปนักต่อนักแล้ว

ถ้าคุณพอจะเคยฟังวงที่ผมกล่าวมาแล้วบ้างคุณก็คงจะรู้ว่ามันแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลยนอกจาก เครื่องดนตรีที่ใช้ คือ กีต้าร์ (เสียงแตก) เบส และ กลอง (ความ “หนัก” ของดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำ) แต่ถ้าคุณนั้นยังไม่เห็นความแตกต่างผมก็ไม่แปลกใจที่คุณนั้นใช้คำว่าเฮฟวี่เมทัลเรียกวงเหล่านี้ เพราะนั่นแสดงถึงจุดที่คุณมองจากข้างนอกเมทัลได้เป็นอย่างดี เพราะ เท่าที่ผมเคยรู้จักคนฟังเมทัลมา แทบไม่มีใครใช้คำว่าเฮฟวี่เมทัลในความหมายที่กว้างขนาดนั้น เพราะมันรังแต่จะสร้างความสับสน การใช้คำว่า เฮฟวี่เมทัล มักจะใช้กับวงรุ่งบุกเบิกจากอังกฤษอย่าง แบล็คซับบาธ (Black Sabbath), มอเตอร์เฮด (Motorhead) และ ไอรอนไมเดน และ วงที่มีความหนักหน่วงใกล้เคียงกัน เพราะ วงก่อนหน้านั้นมักจะถูกจัดเป็นฮาร์ดร็อค ซึ่งก็หมายถึงวงอย่าง เลดแซปปลิน ครีม ดีฟเฟอร์เพิล ด้วย และ วงหลังจากนั้น ก็จะมีหมวดย่อย (Sub-Genre) บอกชัดเจน เช่น เมทัลลิกา เป็นแทรชเมทัล, แคนเดิลแมส (Candlemass) เป็นดูมเมทัล (Doom Metal), สปิริทชวลเบกการ์ (Spiritual Beggars) เป็นสโตเนอร์เมทัล (Stoner Metal), อนาเธมา (Anathema) เป็นโกธิคเมทัล (Gothic Metal), อินเฟลม (Inflames) เคยเป็นเมโลดิดเดธเมทัล (Melodic Death Metal), คานนิบาลคอร์ปส์ (Cannibal Corpse) เป็นบรูทัลเดธเมทัล (Brutal Death Metal) หรือ เมย์เฮ็ม (Mayhem) เป็นแบล็คเมทัล (Black Metal) เป็นต้น

แน่นอนว่ายังสามารถแบ่งลงไปได้ละเอียดมากกว่านี้อีกแต่เท่านี้ก็คงเพียงพอที่จะจินตนาการได้ว่าการเหมารวมทั้งหมดที่กล่าวมานั้นว่าเป็น “เฮฟวี่เมทัล” ทั้งหมดนั้น มันตัดข้ามความแตกต่างไปขนาดไหน นี่ยังไม่รวมการเรียก “เฮฟวี่เมทัล” ว่าเป็น “ร็อค” อีกที่จะสร้างความไม่ชัดเจนเพิ่มขึ้นไปอีก

ประเด็นของผมตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคำว่า เฮฟวี่เมทัล หรือ คำว่า ร็อคนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ แต่การใช้คำเหล่านั้นไม่ได้บอกอะไรที่ชัดเจนไปมากกว่าที่ว่าวงดนตรีที่คุณพูดถึงนั้นมีการใช้กีต้าร์ไฟฟ้าเสียงแตก เบส และ กลอง นี่ยังไม่รวมถึงภาพของนักดนตรีเฮฟวี่ที่สวมชุดหนังโซโล่กีต้าร์ – ที่ในความเป็นจริงแทบจะศูนย์พันธุ์ไปหมดแล้ว – ที่มักจะถูกเชื่อมโยงกับความเป็นเฮฟวี่ อันเป็นการสร้างภาพแช่แข็งความเป็นเฮฟวี่ไม่ต่างจากการสร้างภาพแช่แข็งของชนเผ่าต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกที่มองข้ามพลวัตรของคนเหล่านั้นไป

อาจเรียกได้ว่าการมองแบบเหมารวมดังกล่าวนั้นเป็นการมองของ “คนนอก” ไปยัง “คนใน” โดยแท้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่หน้าที่กงการอะไรของผมที่จะบังคับให้คนนอกนั้นต้องเข้าใจคนใน แต่สิ่งที่ผมต้องแสดงให้เห็นก็คือ การกระชากหน้ากากของความเป็นผู้รู้ของบรรดาคนนอกที่ผลิตความรู้เกี่ยวกับคนในออกมา ให้คนนอกคนอื่น ผมขอย้ำว่าผมไม่ได้กล่าวว่าความรู้ดังกล่าวนั้นผิดเพราะผมไม่สามารถหาจุดยืนที่เป็นกลางพอที่จะตัดสินได้ ผมเพียงแต่กล่าวว่า การมองคนในจากข้างนอกนั้นจะได้ภาพที่แตกต่างไปจากการที่คนในนั้นมองกันเอง หรือ ถ้าจะไปให้ไกลว่านั้นแล้ว สิ่งที่ถูกมองว่า เป็นคนใน นั้น ก็ยังมีความเป็นคนนอก คนในในตัวของมันอยู่ เช่น ภายใต้คนที่ถูกมองว่าเป็นเฮฟวี่นั้น ก็มีจารีตที่ต่างกัน พวกเดธเมทัลเหมารวมพวกแบล็คเมทัลโดยไม่แบ่งแยก พวกแบล็คเมทัลเหมารวมพวกเดธเมทัลโดยไม่แบ่งแยก พวกที่ฟังเฮฟวี่ดั้งเดิมไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง เดธเมทัล แบล็คเมทัล และ ไกรนด์คอร์ (Grindcore) เป็นต้น

ที่ผมพูดนี่ผมไม่ได้ยกมาลอยๆ นะครับผมประสบมากับตัวเองทั้งหมด ผมตระหนักดีว่าการเหมารวมนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่สุดแต่ผมก็เกลียดมันสิ้นดี ผมได้แต่หวังว่าคนเรานั้นจะเหมาะรวมกันให้น้อยกว่านี้ และ ขยายพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายมากกว่านี้ เวลานี้ผมก็ได้แต่เพียงกระชากหน้ากากของการเหมารวมในอาณาบริเวณของผม แม้ว่าผมจะรู้ดีว่าผมกำจัดมันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมจะไม่สามารถลดทอนมันเพื่อให้สภาวะที่ดีขึ้นนั้นเป็นไปได้ ผมไม่ใช่พวกที่ตั้งเป้าไว้หรูๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้ เพื่อจะทำให้ทุกสิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเคยเป็น คือ การพยายามไปให้ถึงเป้าที่สวยงามดังกล่าวแล้วก็ล้มเหลวอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมว่าเรานั้นไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายอันไปถึงไม่ได้ที่เราแสร้งว่าเราสามารถไปถึงได้ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่

ในที่สุดแล้วการเหมารวมในการจัดประเภทดนตรีก็คงจะมีต่อไป ผมก็คงได้แต่เพียงชี้แจงอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเบื้องหลังการเหมารวมนั้นมีความแตกต่างหลากหลายซ่อนอยู่ และ ก็ต้องระวังไม่ให้ตนเองนั้นทำการเหมารวมไม่ว่ามันจะเป็นการเหมารวมในอาณาบริเวณไหนก็ตามแต่
My Odeo Podcast