Saturday, March 18, 2006

It's The Error That Constitute the Very Kernel of Our Being: The Lacanian Reading of The Sound of Thunder

หลังจากหนังเรื่อง Sound of Thunder ออกเป็นแผ่นได้ไม่นาน ผมก็รีบแจ้นไปเช่ามาดู เพราะได้ยินคำวิจารณ์หนังเรื่องนี้แบบสาดเสียเทเสียมามาก พอดูจบก็พบว่าหนังเรื่องนี้ยังคงเล่นกับมุขเก่าๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนอดีต และ ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำออกมาอย่างคมเท่าที่ควร (ผมไม่ใช่แฟนไซไฟ แต่ผมยกให้ ”การเล่นกับเวลา” ที่เด็ดสุดให้แก่ จุดจบแห่งนิรันดร์ (End of Eternity) ของอาซิมอฟ) ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคนั้นก็ไม่ได้สร้างความประทับใจให้ผมโดยสิ้นเชิง (เพราะในยุคนี้แล้ว ผมคิดว่ามันจะดีกว่านี้) แถมมันยังจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งแบบดาษๆ ที่ใครก็น่าจะเดาได้อีกด้วย แต่ด้วยแรงจูงใจบางอย่างมันก็ทำให้ผมนั้นอ่านหนังเรื่องนี้อย่างจริงจังจนได้

สาร (Message) ของหนังเรื่องนี้อย่างง่ายๆ ก็คือ “เราไม่ควรไปยุ่งกับอดีต” อันเป็นการสอนจริยศาสตร์เทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรใหม่ หรือถ้าจะมองว่ามันเป็นการวาดภาพให้เห็นมิติในทางลบของเทคโนโลยี มันก็เป็นมุขที่ใช้กันมาไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่องแล้ว ซึ่งถ้ามองหนังเรื่องนี้อย่างตื้นๆ เพียงแค่นี้ (ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนทั่วไปมองอย่างนั้น) คุณค่าของหนังเรื่องนี้คงตกกระป๋องไปเลย จึงไม่แปลกที่คนก่นด่ากันระงม แต่ในฐานะของนัก “อ่าน” ภาพยนตร์ที่ดี เราก็ควรจะอ่านมันหลายๆ แบบก่อนที่จะตัดสิน

การอ่านอีกแบบที่เป็นไปได้ก็คือการอ่านแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งก็คือการอ่านแบบทุนเป็นผู้ร้าย การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอดีตนั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงการสร้างกำไรให้บริษัทใหญ่ที่ได้ผลกำไรอย่างมหาศาลในโลกทุนนิยม แถมบริษัทดังกล่าวยังร่วมมือกับรัฐด้วย ดูคล้ายกับว่ารัฐนั้นให้สัมปทานในการทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งในสายตามาร์กซิสต์แล้วก็คงจะไม่ใช่อะไรนอกจากการที่รัฐนั้นทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ... และก็คงต้องตบท้ายการอ่านด้วย “แรงงานทั่วโลกจงรวมตัวกัน!” … ทว่านี่ก็ยังเป็นสารในแบบเก่าๆ สำหรับการอ่านแบบนี้เช่นกัน

ผู้คนนั้นชอบเรียกร้องให้นักวิจารณ์ทำการวิจารณ์หนังในเชิงบวก กล่าวคือถ้าชมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าด่าแล้วไม่เสนอวิธีแก้ไขหรือปรับปรุงละก็ จะโดนโจมตีว่าดีแต่พูด ให้มาทำเองก็ทำไม่ได้ ... แต่พวกเขาคงลืมไปกระมังว่ามันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า สิ่งบางสิ่งที่นักวิจารณ์ด่านั้นมันเกินจะเยียวยาจริงๆ จนแทบจะเรียกได้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ต้องสร้างมันขึ้นมาตั้งแต่แรก ส่วนสิ่งที่ดีรองลงมาก็คงจะเป็นการไม่ทำสิ่งเหล่านี้กลับมาอีก ทว่าในสายตาของผู้เขียนแล้วหนังเรื่องนี้ยังไม่เกินเยียวยา ทั้งๆ ที่มันยังเล่นมุขเก่าๆ ไปจนถึงการมีภาพ CG ที่ไม่มีความละเอียดลออเท่าที่ควร

ฉากที่ตรึงตาผู้เขียนที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือการปรากฏตัวของสัตว์ประหลาดตัวที่ห้า ที่ไม่ปรากฏในโฆษณาหนัง สัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการที่คลื่นแห่งการเวลาสุดท้ายมากระทบตัวมนุษย์ กล่าวคือมันคือผลจากการเปลี่ยนแปลงอดีตที่ส่งกลับมาถึงตัวตน (Identity) ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

มุมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ในแบบสามานย์ (Vulgar) ก็คือการที่ “เรา” นั้นจะกลายเป็นอะไรบางอย่าง ที่ไม่พึงประสงค์ถ้าเราไปยุ่งกับอดีต ซึ่งก็คือปีศาจวิทยา (Demonology) ของการเข้าไปยุ่งกับอดีตดีๆ นั่นเอง

... แต่การอ่านแบบนั้นอาจพลาดอะไรบางอย่างซึ่งก็คือ การมอง (Gaze) ของเรา เราต้องไม่ลืมว่าเรามองจากมุมมองของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายในตัวมันเอง ที่มันดูเลวร้ายเพราะเราเข้าไปอยู่ในมุมมองที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Gaze) เราทำราวกับว่าคลื่นกาลเวลานั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดเรา (อาจเป็นที่โต้เถียงได้แต่ไม่ของยกไว้ในที่นี้) และเหนือสิ่งใดแล้วถ้าคลื่นกาลเวลาลูกสุดท้ายทำให้โลกนั้นปราศจากมนุษย์ มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อโลกดังกล่าวตรงๆ จะเป็นไปได้อย่างไร หนังทำให้เกิดมุมมองของมนุษย์ในโลกที่ไม่มีมนุษย์ด้วยตัวผู้ชมเอง (อย่าลืมว่าไม่มีตัวละครใดในหนังที่เห็นโลกดังกล่าว) นี่คงเพียงพอกระมังสำหรับการอธิบายมุมมองที่เป็นไปไม่ได้

แต่หนังก็ไม่ได้นำเราไปถึงพวกคำถามนั้น เพราะในที่สุดแล้วพระเอกของเราก็เข้าไปแก้อดีตได้ และทุกอย่างก็จบอย่างเป็นสุข

ตนจบที่เป็นสุขตรงนี้คงจะไม่ใช่อะไรนอกจากการเข้าไปแก้ไขความผิดพลาด (Error) ในอดีตของตน ซึ่งก็คือการกลับไปในอดีตเพื่อป้องกันการเอาผีเสื้อกลับมา (อันทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในอนาคต) สรุปง่ายๆ ว่าหนังเรื่องนี้จบด้วยการทำทุกอย่างเพื่อให้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เราดำรงอยู่ได้เพราะการกลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีต

แต่ถ้าเราจะลองคิดถึงทางที่ตรงข้ามกันบ้าง ถ้าพระเอกแก้ไขอดีตไม่ได้ล่ะ...จะเกิดอะไรขึ้น จิตสำนึก (Conciousness) เราจะตกอยู่ในร่างสัตว์ประหลาดหรือ? หรือมันจะไม่มีตัวเราอยู่เลย? นี่ไม่ใช่คำถามที่หนังตอบ หรือแม้แต่จะตั้งออกมาตรงๆ ทว่าการแก้ไขอดีตไม่สำเร็จของพระเอกนั้นก็คงไม่ทำให้หนังนั้นแฮปปี้เอ็นดิ้งเป็นแน่

แล้วทำอย่างไรให้มันแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยพื้นฐานของการแก้ไขอดีตไม่สำเร็จ? ตรงนี้เองที่หนทางจะเยียวยาให้หนังเรื่องนี้นั้นมีความเฉียบคมขึ้นมาปรากฏ ผู้เขียนขอเสนอว่าให้สร้างหนังใหม่ เกี่ยวกับโลกของสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง (ควรจะมีความน่ารักอยู่บ้างเพื่อที่จะให้ขายได้ – ผมไม่ได้สนับสนุนธุรกิจหนัง แต่ผมพยายามแก้หนังโดยให้หนังนั้นมีพื้นฐานเดิมมากที่สุด ไม่เช่นนั้นผมคงให้ใส่ซอมบี้กับมนุษย์ต่างดาวลงไปในหนังด้วย) ที่มีอารยธรรมจนสร้างไทม์แมชชีนได้ โดยมีเหตุการณ์เหมือนกับในเรื่องนี้ทุกอย่างแต่ เปลี่ยนจากโลกของคนเป็นโลกของสัตว์ประหลาด จนถึงในตอนท้ายที่คลื่นแห่งการเวลามาก็ให้สัตว์ประหลาดพวกนั้นกลายเป็น “คน”

การกระทำอย่างนี้จะทำให้เรารู้สึกประหลาดพิลึกในตอนท้าย เพราะการกลับไปแก้อดีตของสัตว์ประหลาดนั้นจะทำให้มนุษย์นั้นไม่มีอยู่ เราคงจะรู้สึกพิลึกกับยุทธการกอบกู้ผีเสื้อของหนังเวอร์ชั่นใหม่ไม่น้อยทีเดียว

การหักมุมเช่นนี้ทำให้หนังเรื่องนี้แหลมคมได้อีกมาก นอกจากนั้นแล้วเรายังเลือกตอนจบได้อีกสองแบบซึ่งก็ธำรงความคลุมเครือได้อีกมากเช่นกัน

แบบแรก บแบบหนังเวอร์ชั่นเดิม คือตัวเอกสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ ซึ่งสำหรับเรื่องแล้วมันเป็นแฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่สำหรับเรานั้นมันไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้จบในโลกที่เราดำรงอยู่

แบบที่สองที่ผมแนะนำ คือจบแบบที่ตัวเอกเรื่องนี้ไม่สามารถแก้อดีตได้ และตอนจบก็แสดงให้เห็นภาพโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเราที่ทุกคนดำรงชีวิตกันตามปกติ (นอกจากนั้นแล้วหนังควรจะให้คลื่นเวลานั้นเปลี่ยนแปลงโลกอันแสนสุขของบรรดาสัตว์ประหลาด ให้กลายเป็นโลกที่เราอยู่อย่างที่ละเล็กที่ละน้อยด้วย และก็ต้องให้บรรดาสัตว์ประหลาดมองการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสะพรึงกลัว) นี่อาจทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นไซไฟ ตลกร้าย ที่ทำการวิพากษ์การดำรงอยู่ของเราได้อย่างไม่เลวเลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วมันยังทำให้ประเด็นเด็ดที่หนังเรื่องนี้แย้มพรายออกมา (แต่ล้มเหลวที่จะนำเสนอมันอย่างเหมาะสม)ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนอีกด้วย ประเด็นดังกล่าวก็คือประเด็นเรื่องความผิดพลาด (Error) หนังเรื่องนี้เดินเรื่องด้วยการแก้ไขความผิดพลาด ซึ่งมีตรรกะเบื้องหลังอยู่ที่ความผิดพลาดเล็กๆ ในอดีตนั้นส่งผลถึงปัจจุบันได้อย่างมหาศาล ดังนั้นการที่เราจะดำรงอยู่ (Exist) เราต้องกลับไปแก้ไขความผิดพลาด (การเอาผีเสื้อกลับมา)

การจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งของหนังเวอร์ชั่นเก่าเป็นการทำให้ความผิดพลาดถูกแก้ ทำให้เรานั้นลืมไปได้ว่าความผิดพลาดนั้นอาจนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง จนเราไม่สามารถจินตนาการได้ นั่นคือสิ่งที่เราและโลกจะกลายเป็น (will become) ซึ่งหนังไม่ได้เล่นกับตรงนี้อย่างลึกซึ้งเท่าใดนัก เพียงแต่วาดภาพอันน่าสะพรึงในความเป็นอื่น (Otherness) ของมันเท่านั้น

ถ้าความผิดพลาดไม่ถูกแก้ล่ะจะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเรายกคำถามตรงนี้มาแล้ว สำหรับหนังเวอร์ชั่นเก่าก็จะนำไปสู่จุดจบแบบแบดเอ็นดิ้งเท่านั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงได้นำเสนอหนังเวอร์ชั่นใหม่ภายให้ตรรกะของหนังเวอร์ชั่นเก่า

ในตอนจบในแบบที่สองของหนังเวอร์ชั่นใหม่ที่สัตว์ประหลาดไม่สามารถแก้ใขอดีตได้ ความผิดพลาดที่ไม่ถูกแก้นั้นนำไปสู่สิ่งที่เราเป็น นำไปสู่โลกมนุษย์ที่โฮโมเซเปียนส์ครอบครอง ... และมนุษย์นั้นก็ไม่ตระหนักใดๆ ถึง ความผิดพลาดดังกล่าวของการแก้ไขอดีตของสัตว์ประหลาด

กล่าวคือในหนังเวอร์ชั่นนี้ ความผิดพลาดนั้นไม่ใช่อะไรที่จะทำให้เรานั้นกลายเป็นอะไรบางอย่าง (ซึ่งเราต้องพยายามแก้ไขมัน) แต่ทำให้อะไรบางอย่างนั้นกลายเป็นเราทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้

สิ่งที่หนังแย้มพรายไว้อย่างเงียบๆ ก็คือคำถามที่ว่า “ในที่สุดแล้วการดำรงอยู่ของเรานั้นก็เป็นเพียงความผิดพลาดในการแก้ไขอดีตของบางเผ่าพันธุ์หรือเปล่า?” ซึ่งประเด็นนี้หนังเวอร์ชั่นใหม่ที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้ไว้อย่างชัดเจน

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนในฐานะคนที่เห็นการวิจารณ์หนังในแบบลากองเนี่ยน (Lacanian Film Criticism) มามากมายในงานของชิเชค (Zizek) ก็อดจะจับหนังเรื่องนี้เข้าไปในกรอบแบบลากองไม่ได้

ภายใต้กรอบของลากองแล้ว เรานั้นมีชีวิตอยู่ในโลกที่ถูกสร้างด้วยภาษาและกฎเกณฑ์ต่างๆ (ในความหมายกว้างที่สุด) ซึ่งโลกจริงๆ ที่ภาษาและกฎเกณฑ์เข้าไปเกาะเกี่ยวนั้นเรียกว่า Real เป็นโลกที่ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ไม่มีการไม่ปรากฏ (Absent) ทว่าเรานั้นเข้าใจถึงการดำรงอยู่ก่อนภาษาของ Real ได้จากการที่ภาษาและกฎเกณฑ์นั้นไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมันต้องมีสิ่งหลงเหลือจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (Leftovers after Symbolization) ดังนั้นความเข้าใจเรื่องสิ่งที่หลงเหลือนี่เองที่นำไปสู่ความเข้าใจย้อนกลับไป (Retroactive) ที่ว่ามันมีอะไรที่ดำรงอยู่ก่อนระบบสัญลักษณ์

แล้วนี่มันเกี่ยวอะไรกับหนัง? เกี่ยวแน่ เพราะคลื่นการเวลาในหนังนั้นไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการผุกร่อนของโลกในทางสัญลักษณ์ (Symbolic Universe) ของเรา โดยคลื่นลูกสุดท้ายนั้นก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการแตกดับของโลกในทางสัญลักษณ์ของเรา ... ซึ่งสิ่งที่เหลืออยู่ก็คงจะไม่เป็นอะไรนอกจากสิ่งที่ลากองเรียกว่า Real ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ Reality ที่เรามีชีวิตอยู่ภายใต้ระบบสัญสักษณ์ (Symbolic Order) และแฟนตาซี (Fantasy) ที่คอยอุดรูโหว่ในระบบสัญลักษณ์

เราเข้าใจเหตุการณ์หลังคลื่นเวลาลูกสุดท้ายได้สองแบบ แบบแรกคือแบบโลกในหนัง สิ่งที่หลงเหลือก็ไม่ใช่อะไรนอกจาก Real สัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้น เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ภายหลังโลกในระบบสัญลักษณ์ของเราแตกสลาย กล่าวคือไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้กับโลกของเรา ถ้าลากองนั้นนิยาม Real ว่าเป็นสิ่งที่ต่อต้านการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (The Real is which Resist Symbolization) แล้วสัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้นก็คงจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นจริงของเรา แต่เป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอก มุมมองของกล้องที่ค่อยๆ ซูมไปที่สัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้น ทำให้เรารู้สึกถึงความน่าสะพรึงในความประหลาดและเป็นอื่น (Uncanny) ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วสัตว์ประหลาดยังให้ความรู้สึกของเมือกเหนียวๆ ที่สามารถทำให้เรานั้นพรั่งพรึงอย่างหาคำบรรยายไม่ได้ ที่สำหรับลากองแล้วก็คงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก Jouissance ซี่งเป็นสิ่งที่เปียกชุ่มใน Real นี่คงพอกระมังที่จะบอกว่าสัตว์ประหลาดดังกล่าวนั้นเป็น Real ในโลกของหนังโดยแท้

ในการอ่านแบบที่สองคือการอ่านแบบในโลกของเรา สัตว์ประหลาดที่เรากลายเป็นนั้นอาจเป็นแค่แฟนตาซีก็ได้ เมื่อพูดถึงแฟนตาซีในกรอบแบบลากอง เราต้องตระหนักเสนอว่าแฟนตาซีนั้นเป็นเครื่องป้องกันตัวเราไม่ให้ไปสัมผัสกับ Real แฟนตาซีนั้นไม่จำเป็นต้องสวยงามเสมอไป อาจน่าเกลียดน่ากลัวมากก็ได้? ถ้าสัตว์ประหลาดนั้นเป็นเพียงแฟนตาซีของเรา แล้วอะไรคือReal? เราอาจกล่าวได้สิ่งที่น่ากลัวกว่าการที่เรานั้นกลายเป็นสัตว์ประหลาด (จนที่ให้เราต้องมีมันเป็นแฟนตาซี) ก็คงจะเป็นการที่เราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น เป็นความไม่แน่นอนอย่างถึงที่สุด (Radical Contingency) เช่นเดียวกับที่นักเดินเรือนั้นจินตนาการถึงปลาหมึกยักษ์หรือสัตว์ประหลาดในทะเล เพื่อจะป้องกันเขาจากความไม่แน่นอนอย่างถึงที่สุดของท้องทะเล (หรือเราอาจอ่านได้ว่า การกลายเป็นสัตว์ประหลาดนั้นเป็นเพียงจินตนาการของพระเอก ที่มีต่อผลของคลื่นเวลาลูกสุดท้ายก็ได้)

แน่นอนว่าบทความนี้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าจะทำให้หนังเรื่องนี้นั้นเฉียบคมขึ้น จะต้องมีการกลับหัวกลับหางอะไรบางอย่างดังที่เสนอไป

ในทางตรงข้าม ในหนังเวอร์ชั่นใหม่ คลื่นแห่งเวลานั้นไม่ใช่อะไรอย่างอื่นเลยนอกจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (Symbolization) การเข้ามาของระบบสัญลักษณ์ (โปรดสังเกตการณ์กลับกันของหน้าที่ของคลื่นเวลา) ทำให้การตอนในเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Castration) ที่จะทำให้ Juissance และ สัตว์ประหลาดนั้นหมดสิ้นไป ... และทำให้มนุษย์นั้นดำรงอยู่

การที่หนังในแบบที่สองนั้นดูจะเฉียบคมกว่าแบบแรก ก็คือการหักมุมเปลี่ยนจาก Symbolic เป็น Real ในตอนท้าย ในตอนแรกที่เราดูหนังและเอาใจช่วยสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวเอกนั้นโลกในทางสัญลักษณ์ของเราที่อินกับหนัง คือโลกเดียวกันกับของสัตว์ประหลาดในหนัง แต่เมื่อตอนหลังพอหนังเฉลยว่าการดำรงอยู่ของเรานั้นขึ้นอยู่กับความล้มเหลวของสัตว์ประหลาดที่เป็นตัวเอกเท่านั้น เราก็พบว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกสัญลักษณ์ของเราเอง เพราะโลกสัญลักษณ์ของสัตว์ประหลาดกับของเรานั้นเป็นคนละโลก หรือถ้ามองจากมุมมองของมนุษย์แล้ว การหักมุมของหนังมันทำให้จู่ๆ นั้น เราก็ค้นพบตัวเองอยู่ที่พื้นที่ต้องห้ามที่เป็นรูโหว่ของระบบสัญลักษณ์ (Forbidden Place of The Hole in The Symbolic Order) ของเราเองอันเป็นที่ๆ นอกระบบสัญลักษณ์ซึ่ง The Real ดำรงอยู่ ซึ่งผลก็คือมันจะทำให้เกิดความรู้สึกแบบ Sublime ขึ้นอย่างฉับพลัน รวมไปจนถึงความลังเลในการเลือกไม่ถู กว่าจะเชียร์สัตว์ประหลาด (ที่กำลังจะปกป้องเผ่าพันธุ์ตนและทำให้มนุษย์นั้นไม่ดำรงอยู่) ดีหรือไม่ดี (ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่เข้มข้น มากกว่าที่จะเกิดกับหนังที่เดาตอนจบออกตั้งแต่แรกนี้มาก)

นี่คงจะเป็นคำอธิบายในแบบลากองเนี่ยนว่า ทำไมหนังเวอร์ชั่นกลับหัวกลับหางถึงเป็นสิ่งที่ดูเข้าท่ากว่ายิ่งนัก อย่างน้อยๆ ก็สำหรับการเล่นกับความรู้สึกของคนดู

ประการสุดท้ายที่อยากอ่านในแบบลากองเนี่ยนในที่นี้ (จริงๆ แล้วน่าจะนำไปจับในประเด็นอื่นๆ ได้อีกมาก) ก็คือการอ่านแบบ Error as Real ซึ่งก็คือประเด็นที่ว่าความผิดพลาดนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้คุกความการดำรงอยู่ของเรา (threaten our being) เท่านั้น แต่ความผิดพลาดดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบการดำรงอยู่ของเราขึ้นมา (constitute our being) ด้วย ตัวหนังนั้นบอกเราเป็นอย่างดีสำหรับลักษณะแรก และหนังเวอร์ชั่นใหม่ที่สร้างขึ้นมาภายใต้ตรรกะเดิมก็บอกเราเป็นอย่างที่ถึงลักษณะที่สอง ลักษณะที่ขัดแย้งกันของความผิดพลาดนี้ ต้องเอาไปเทียบกับ Real ที่การไหลเข้ามาของมันในระบบสัญลักษณ์นั้นจะเป็นการทำลายระบบสัญลักษณ์ แต่มันก็เป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย (Last Support) ของระบบสัญลักษณ์ ระบบสัญลักษณ์ที่ดำรงอยู่ภายให้การสร้างความแตกต่าง และการกันอะไรออกไปนั้น จำต้องดำรงอยู่คู่กับ Real อย่างเลี่ยงไม่ได้

ในหนังคลื่นเวลานั้นเป็นเส้นแบ่งระหว่าง Symbolic กับ Real ถ้ามองจากในโลกของเราแล้ว หนังแบบแรกนั้นเป็นการไหลบ่าเข้ามาในโลกของเราของ Real ที่ทำลายโลกในทางสัญลักษณ์ของเราจนสิ้น แต่หนังในแบบที่สองนั้นบอกเราในสิ่งตรงข้าม เพราะมันเป็นการบอกเราว่าโลกของเรานั้นประกอบมาด้วยการไหลบ่าของระบบสัญลักษณ์ของเรา (แต่เป็น Real ของสัตว์ประหลาด) ซึ่งเริ่มมาจากการกระทำเดียวกันกับที่ทำลายโลกของเราในหนังแบบแรก กล่าวคือด้วยการกระทำเดียวกันนั่นเองที่สร้างและทำลายระบบสัญลักษณ์ของเรา หลังจากการสร้างระบบสัญลักษณ์แล้วระบบสัญลักษณ์จึงมีรูโหว่ เช่นเดียวกับปัญหารากฐานอันนอกกฎหมายของกฎหมาย รากฐานอันไม่ชอบธรรมของความชอบธรรม ฯลฯ

เมื่อพิจารณาหนังในทั้งสองแบบแล้ว เราจะเห็นปัญหาตรงนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว เราอาจกล่าวได้ว่าเราดำรงอยู่ได้เพราะความผิดพลาด และในขณะเดียวกันเราก็ดำรงอยู่ได้เพราะความไม่ผิดพลาดด้วย เราต้องการความผิดพลาดพื้นฐานของหนังในแบบที่สอง และความไม่ผิดพลาด (หรือการแก้ไขความผิดพลาด) ของหนังแบบแรกเพื่อที่เราจะดำรงอยู่ ดังนั้นความผิดพลาดนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไหน จึงอยู่นอกระบบสัญลักษณ์เรา และเป็น Real ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในที่สุดแล้วถ้าการอ่านแบบลากองเนี่ยนนั้นก็คงมีประโยชน์ในการเข้าใจหนังเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย ลากองเคยพูดถึงการเอาสิ่งที่นับมานับด้วย (Taking What Count into Account) การกระทำดังกล่าวนี่เองกระมัง ที่พอจะทำให้เรานั้นนึกสงสัยตรรกะในหนังแบบแรก เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราบนพื้นฐานของความผิดพลาดของคนอื่นที่เราไม่รู้ ซึ่งนำมาสู่ความคิดเรื่องหนังในแบบที่สองในที่สุด

0 Comments:

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast