Tuesday, November 22, 2005

Zizek and the Dream Sellers/ First Edition

Zizek and The Dream Sellers : จากรูโหว่ที่ระบบสัญลักษณ์ถึงเซลล์แมนขายฝัน[1]

การใช้เหตุผลของคนเราในการสร้างความชอบธรรมในยุดยืนหนึ่งของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ได้พบเห็นได้ทั่วไป ในโลกที่เรียกร้องให้คนที่เหตุมีผล ทว่าสิ่งที่หลายๆ คนลืมนึกไปก็อาจเป็นเรื่องขีดจำกัดของการใช้เหตุผล หรือ มีเหตุผล ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นอีกสภาวะที่ย้อนแย้ง เช่นกันที่เราต้องมีเหตุผลจากฐานที่ไร้เหตุผลซึ่งจะกล่าวต่อไป ทว่าหลายๆ คนนั้นก็เป็นพวกที่ดูจะอุ้มชูบูชาเหตุผลราวกับว่านี่เป็นพระผู้มาโปรด
ทว่าผู้เขียนไม่นิยมอ้างอย่างสิ่งเช่น พระเจ้า, ชาติ, สังคม, ธรรมชาติ หรือ มนุษยชาติก็ตามการสนับสนุนความคิดผู้เขียน แม้ว่าผู้เขียนนั้นจะตระหนักดีถึงความทรงพลังของมัน ซึ่งเมื่ออ้างถึงก็มักจะอึ้งกันไม่แย้งต่อ ทั้งๆที่เอาจริงๆแล้วเรานั้นก็อาจไม่รู้ว่า ไอ้ทั้งหมดที่ยกมาอ้างนั้นมันคืออะไรกันแน่นอกจากความเข้าใจอย่างหลวมๆ (พระเจ้า, ชาติ, สังคม, หรือมนุษย์ชาตินั้นไม่เคยประประกฎต่อหน้าเรายามที่เราอ้างถึงมัน [หรือกระทั่งไม่เคยปรากฏต่อเราเลยแม้แต่ครั้ง] การเข้าใจของเราสำหรับสิ่งเหล่านี้แทบจะร้อยทั้งร้อย มาจากเรื่องเล่าที่ร้อยเรียงกันถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นผลผลิตของภาษาแท้ๆ) คนที่จริงจังกับสิ่งเหล่านี้คงไม่มานั่งวิพากษ์ถึงการดำรงอยู่ของมัน เป็นจุดที่เราจำต้องละที่จะพูดถึงหรืออธิบาย เพื่อที่จะทำให้การไปอธิบายสิ่งอื่นๆนั้นเป็นไปได้ นี่อาจเป็นรูโหว่ตรงกลางระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ของเรา ที่ทำให้ระบบสัญลักษณ์นั้นเป็นไปได้ก็ได้ ถ้าเราจะอธิบายในกรอบที่คล้ายๆ กับกรอบแบบ Lacanian

เนื่องจากรูโหว่นั้นมีแต่ความว่างเปล่าและกลวงโบ๋ จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวเกินไปที่จะมองเข้าไปในรูดังกล่าวจากในระบบสัญลักษณ์ เพราะสิ่งที่เห็นก็อาจเป็นเพียงสิ่งที่อาจเรียกว่า “แก่นกลางนั้นว่างเปล่า” ที่ทำให้ความหมายของบริเวณรอบๆนั้นเป็นไปได้ เป็นสิ่งไร้ความหมายที่ทำให้ความหมายอื่นๆนั้นเป็นไปได้ ฉะนั้นการดำรงอยู่ของมันนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อระบบสัญลักษณ์ กล่าวคือรูโหว่ดังกล่าวนั้นมันเป็นสิ่งจำเป็น และ มันก็เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับระบบสัญลักษณ์ไปพร้อมๆ กัน เพราะรูโหว่นั้นทำให้ระบบสัญลักษณ์นั้นเป็นไปได้ แต่ในรูโหว่นั้นก็เป็นตำแหน่งที่ระบบสัญลักษณ์นั้นใช้ไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างหนึ่งของการดำรงอยู่ของรูโหว่ดังกล่าวคือเหตุผล ของการมีเหตุผล เมื่อเราถามเหตุผลของการมีเหตุผล แล้วตามด้วยเหตุผล ของเหตุผลของการมีเหตุผล ไปเรื่อยๆ เราก็จะพบกับการใช้เหตุผลวิพากษ์ตัวมันเองไปเรื่อยๆ (เป็นการละเล่นในระบบสัญลักษณ์ อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งการเล่นดังกล่าวนั้น ของระบบสัญลักษณ์ที่ไม่ตระหนักถึงขีดจำกัดและความเป็นไปไม่ได้ของตัวมันเอง ซึ่งก็อุปมาได้ว่าเป็นการวงเวียนอยู่รอบๆด้วยความไม่รู้ว่ารูโหว่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้)

ซึ่งการละเล่นดังกล่าวเป็นการละเล่นแบบงูกินหางที่ผิดจุด [miss the point] เพราะว่าสิ่งที่เป็นเหตุผลที่เราจะมีเหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่จำต้องอยู่เหนือการวิพากษ์ของเหตุผลโดยนิยามของตัวมันเองอยู่แล้ว การอ้างมันอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำลายความชอบธรรมในการใช้เหตุผลทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราสามารถบรรลุในสิ่งที่เราต้องใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือในการบรรลุนั้นได้โดยไม่ต้องใช้เหตุผล เราก็ไม่รู้ว่าจะดึงดันใช้เหตุผลไปทำบ้าอะไรในกรณีดังกล่าว ยิ่งถ้าเหตุผลนั้นเป็นตัวปิดกั้นในการเข้าถึงเป้าหมายนั่นมันก็ยิ่งเป็นสิ่งที่บ้าบอสิ้นดีที่เรายังจะดึงดันใช้มัน

อย่างไรก็ตามการตรงตัดลัดทางดังกล่าวสู่แกนกลางของระบบสัญลักษณ์นั้น อาจทำให้เรานั้นดูเหมือนคนบ้า (psychotic) ดังนั้น รูโหว่ดังกล่าวนั้นจึงจำต้องถูกตระหนักถึงอย่างเงียบๆ เพราะการเข้าอยู่ตรงนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวเกินไปสำหรับคนรอบข้าง[2] (เช่นเดียวกับการที่เราไปถามถึงเหตุผลของการทำเพื่อ “ชาติ” ในที่ประชุมของทหาร หรือ ไปถามถึงเหตุผลของการไปสู่ “สังคมที่ดีกว่า” ในหมู่ปัญญาชนสารธารณะในโลกที่สาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวในปริมณฑลดังกล่าว เพราะมันเป็นการท้าทายถึงความมีเหตุมีผลของสิ่งที่คนในปริมณฑลนั้นทำมาทั้งหมดทีเลยเดียว (ทหารนั้นรบเพื่อชาติ ส่วนปัญญาชนโลกที่สามนั้นก็พยายามจะนำสังคมนั้นไปสู่สภาวะที่ดีกว่า) การไปอยู่ ณ จุดดังกล่าวด้วยคำถามดังกล่าวนั้นจึงเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครในอาณาบริเวณนั้นได้ทำการวิพากษ์ เพราะการวิพากษ์ดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จากในระบบสัญลักษณ์ของมันเอง ถ้าจะกล่าวอย่างหยาบๆ ก็คือถ้าทหารมัวแต่เถียงกันว่าจะทำเพื่อชาติไปทำบ้าอะไร เราก็คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ทหาร (ซึ่งไม่อาจจะทำการรับใช้ชาติได้ถ้ามัวแต่เถียงกันถึงความจำเป็นของภารกิจ) เช่นเดียวกับกรณีของปัญญาชนโลกที่สาม (ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคมได้ถ้ามัวแต่เถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดว่าจะทำเพื่อสังคมไปทำบ้าอะไร) )

เนื่องจากความว่างเปล่าของรูโหว่นั้นดูจะน่ากลัวเกินกว่าจะทนทานไหวดังนั้นจึงจำต้องมีสิ่งปิดกั้นการมองเข้าไปในรูโหว่ดังกล่าว (แม้ว่าบางครั้งคราเรานั้นอาจมองเข้าไปในรูโหว่ดังกล่าวอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม) ซึ่งสิ่งนั้นคือ มายาภาพ (fantasy) ที่จะทำให้เราไม่เห็นความว่างเปล่าในรูโหว่ดังกล่าวของระบบสัญลักษณ์ ดังนั้นมายาภาพจึงเป็นสิ่งที่ใช้ปิดรูโหว่ซึ่งเป็น “ความเป็นไปไม่ได้” (the impossible) ของระบบสัญลักษณ์นั่นเอง ภายใต้การมีมายาภาพแล้วคนนั้นจะไม่เห็นรูโหว่ในระบบสัญลักษณ์ เพราะมายาภาพนั้นจะทำให้รูโหว่ดังกล่าวนั้นมีความเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไร้รอยต่อกับระบบสัญลักษณ์ นี่เองที่ทำให้ความเป็นจริง (Reality) นั้นมีความสม่ำเสมอและไม่ถูกรบกวนโดยรูโหว่[3] ซึ่งผู้คนก็อาจฉายมายาภาพที่ต่างๆ กันมาปิดรูโหว่ดังกล่าวอย่างแตกต่างกันไป

ทว่ามายาภาพนั้นเป็นบางครั้งก็เป็นการเพียงการฉายความเป็นไปไม่ได้ภายในระบบสัญลักษณ์ออกไปเป็นอุปสรรคภายนอก (Externalizing the internal self-deadlock) เพื่อที่ความเป็นไปไม่ได้จะได้มีสภาวะการดำรงอยู่ที่เป็นบวก (Positive Existence)[4] เช่นเดียวกับการทำความเข้าใจแก่นสารกับข้อเสนอที่ว่า สังคมนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ (Society Doesn’t Exist) (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรี “หญิงเหล็ก” แห่งเกาะอังกฤษเคยพูดไว้เช่นนี้หรือเปล่า แต่ผู้เขียนคาดว่าตนนั้นไม่ได้ใช้ในความหมายเดียวกันเป็นแน่) ซึ่งเราจะอ่านมันอย่างตรงๆนั้นก็คงดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าใดนัก หรือไม่ก็ฟังดูไม่มีเหตุผล (Make sense) เพราะว่าใครต่อใครแม้แต่เด็กๆ ก็รู้ว่าเรานั้นอยู่ในสังคม จะบอกว่าสังคมไม่ดำรงอยู่ได้อย่างไร?

ความหมายจริงๆ ของประโยคดังกล่าวนั้นคือว่า สังคมนั้นไม่ได้เป็นองค์รวมที่สอดคล้องประสานกันอย่างกลมกลืนโดยไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งดังกล่าวนั้นเป็นสภาวะภายในของสังคมเองที่ไม่ได้รวมไว้ใน “ความเป็นสังคม” เอง ซึ่งสังคมที่ได้มาตรฐานของความเป็นสังคมดังกล่าวนี่เองที่ไม่ได้ดำรงอยู่ เพราะทุกสังคมนั้นก็ล้วนมีปัญหาสังคม ซึ่งโดยตัวคำว่า “ปัญหาสังคม” แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นสภาวะที่ผิดปกติจาก “ความเป็นสังคม”

เมื่อมีการมอง (gaze) จากสภาวะของ “ความเป็นสังคม” (ซี่งเป็นการมองจากระบบสัญสักษณ์) ก็จะค้นพบว่ามีสิ่งปกติเกิดขึ้นในสังคม นามว่าปัญหาสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด สังคมไม่เคยเห็นเลยว่าความผิดปกติดังกล่าวนั้นเป็นแนวโน้มภายในของตัวมันเองของสังคม (ในทางตรงข้ามคนอย่าง Karl Marx นั้นก็เป็นคนแรกที่ชี้ให้เห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของระบบทุนนิยม หากแต่เป็นคุณสมบัติภายในของทุนนิยมเอง สิ่งที่สังคมกฎุมภีนั้นเห็นว่าเป็น การบิดเบือนธรรมดาของระบบ การย่ำแย่ของระบบที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญของระบบ นั้นเป็นสำคัญกุญแจที่จะสำไปสู่ “ความจริง” ของการทำงานของระบบ[5] วิธีเดียวที่จะทำการกำจัดสิ่งดังกล่าว ก็คือการทำลายทุนนิยมนั่นเอง) ดังนั้นสังคมจึงจำต้องมีการอธิบายถึงการไม่สามารถบรรลุถึงตัวตนของตัวมันเอง (identify with itself) ของมัน แต่ก็อย่างที่บอก สังคมไม่เคยมองว่าสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เป็นแนวโน้มภายในของมันเองและเป็นเรื่องปกติ สังคมจึงต้องทำการผลักความเป็นไปไม่ได้ภายในเหล่านี้ ออกไปเป็นศัตรูภายนอก เป็นตัวตนในทางลบของสังคมซึ่งดำรงอยู่ภายนอก (The negative self that have positive existence) สำหรับกรณีที่ชัดมากในการผลักเป็นไปไม่ได้ภายในออกไปข้างนอกก็คือ การถูกสร้างตัวตนของชาวยิวที่ทำให้พวกเขานั้นกลายเป็น “ความเป็นไปไม่ได้ภายในของสังคม ที่ดำรงอยู่นอกสังคม” ซึ่งจะเห็นได้จากการเชื่อมโยงชาวยิวว่าเป็นเหตุแห่งความชั่วร้ายต่างๆ ของสังคม เป็นต้นตอต่างๆ ของปัญหาสังคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแต่สังคมที่ได้มาตรฐานของ “ความเป็นสังคม” (ในอุดมคติ?) นั้นก็ไม่ใช่ที่ๆ ปัญญาชน หรือ นักปรัชญาหน้าไหนเคยไปทำการพักพิง หรือแม้แต่จะเคยเห็น ที่เหล่านั้นจึงอยากเป็นที่ๆปัญญาชน หรือ นักปรัชญาเหล่านั้นอยากไปแต่ไม่เคยดำรงอยู่เสียมากกว่า เนื่องจากคนเหล่านี้ เห็นว่าสิ่งรอบข้างนั้นเป็นสภาวะที่ผิดปกติ ซึ่งจำต้องมีเหตุแห่งความผิดปกติข้างนอก มากกว่าที่จะเห็นว่าความผิดปกติดังกล่าวนั้นเป็นแนวโน้มภายใน (คอร์รัปชันนั้นเป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากประชาธิปไตยระบบตัวแทน, สลัมนั้นนั้นเป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น) หน้าที่ของคนเหล่านี้จึงเป็นการทำการวาดฝันผู้ให้คนมีภาระอันหนักอึ้งเพื่อที่จะไปถึงสังคมในฝันอันไม่เคยดำรงอยู่ (ไม่นับพวกที่ชอบผันถึงวันวานซึ่งยังหวานอยู่ [nostalgia] ที่มักจะวาดภาพอดีตว่าเป็นสิ่งที่สวยงามและควรจะกลับไปหา ที่จะอ้างว่าสังคมที่ตนฝันนั้นเคยมีอยู่ในอดีต ทั้งที่มันอาจเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของสังคมที่อยู่ในความทรงจำอันเลือนรางของคนบางคน หรือ มันอาจเป็นความนึกฝันของคนที่จริงจังกับภาพสังคมน่าอยู่ในอดีตแม้จะเกิดไม่ทันก็ตาม) เป็นเซลล์แมนขายความฝันอันหนักอึ้งซึ่งทุกคนจะไปถึงได้ถ้าร่วมมือกัน อย่างไรก็ดีภารกิจดังกล่าวนั้นก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสยากจะบรรลุ เป็นสิ่งที่ “หนักหน่วงเหลือล้น” เกินทนไหว แต่ในขณะเดียวกันความหนักดังกล่าวนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นไม่ “เบาหวิวเหลือทน” จนเกินไป ภาระดังกล่าวนั้นอาจเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Good) ที่จะต้องมีใครซักคนที่ไม่ใช่ตัวเราเองต้องจัดหามาประเคน ด้วยเหตุเหล่านี้เอง จุดที่สบายที่สุดในการมองความฝันเหล่านั้น ก็คือจุดที่เรานั้นนั่งพักผ่อนอย่างสบายและเห็นคนกำลังสร้างสังคมอุดมคติ ที่เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ที่หนักหนาเกินไปสำหรับเรา ที่เราคิดว่ามันจะสบายกว่าที่เราจะไปถึงโดยผ่านคนอื่น หรือในอีกนัยหนึ่งคือทำโดยผ่านคนอื่น (doing it through the Other)

ภาพอนาคตอันสดใสเหล่านี้คือคำสัญญาของเหล่าปรัชญาแบบยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) ที่อ้างว่าเหตุผลนั้นจะนำพามนุษย์นั้นไปสู่ความก้าวหน้าอันไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ดี สงครามโลกทั้งสองครั้ง, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และ พวกนาซีกับฟาสซิสต์ ก็คงจะอยู่เหนือการคาดเดาของบรรดาผู้สมาทานปรัชญาดังกล่าวในยุคแรกๆ ซึ่งนี้เป็นจุดที่นักปรัชญาหลายคนในศตวรรษที่ 20 (เช่นพวก Franfurt School รุ่นแรกหลายๆคน หรือนักสังคมวิทยาอย่าง Zygmund Bauman) ได้โจมตีแนวคิดของยุคแห่งการรู้แจ้งโดยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเหล่าเหตุการณ์ดังกล่าวกับ แนวคิดของยุคแห่งการรู้แจ้ง หรือ อีกนัยหนึ่ง “แนวโน้มภายในของยุคแห่งการรู้แจ้ง” (internal antagonism of enlightenment) ที่มีศัตรูภายนอกที่อาจเป็น Hitler หรือ Mussolini[6]

แน่นอนว่าการโทษคนเหล่านี้นั้นเป็นมายาภาพโดยแท้ ของแนวโน้มภายในที่ยุคแห่งความรู้แจ้งนั้นไม่เคยบอกว่าตัวเองมี อีกนัยน์หนึ่งการที่คนเชื่ออย่างจริงจังว่ายิวนั้นเป็นต้นเหตุทั้งหมดของปัญหาสังคมกับ คนที่เชื่อว่าถ้าไม่มี Hitler นั้นจะไม่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 และการล้างเผ่าพันธุ์ นั้นไม่ได้มีความต่างกันในเลยในแง่ที่ว่า ทั้งสองนั้นไม่สามารถก้าวผ่านมายาภาพ (traverse the fantasy) เพื่อที่จะเห็นสภาวะที่อยู่นอกระบบสัญลักษณ์ (Real) ที่ระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ของ “ความเป็นสังคม” และ “ความเป็นยุคแห่งการรู้แจ้ง” นั้นไม่ได้ทำการกล่าวถึง แต่ดันดำรงอยู่ และโผล่มาเป็นผี (Spectre) ที่คอยหลอกหลอนอยู่เป็นระยะๆ

เมื่อฝันดีที่บรรดาเซลล์แมนของยุคแห่งความรู้แจ้งขาย นั้นกลับกลายเป็นฝันร้าย คนยอมไม่พอใจเป็นธรรมดา แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นว่าคนนั้นไม่ต้องการฝันร้าย หากแต่เป็นประเด็นที่ว่าเขาไม่ได้ขายฝันร้ายโดย ที่ “บอก” ว่าเขาขายฝันร้ายมากกว่า (ในกรณีที่คนต้องการฝันร้ายมากกว่าฝันดีนั้นจะเห็นได้ในหนังและนิยายสยองขวัญทั่วไป แม้ในทางดนตรีเองนักร้องวงเมทัลระดับบรรพบุรุษอย่าง Ozzy Osbourne ยังเคยกล่าวว่า ”คนนั้นยินดีที่จะจ่ายตังดูหนังสยองขวัญ ทำไมคนนั้นจะไม่ยอมจ่ายตังเพื่อที่จะฟังดนตรีสยองขวัญบ้างเล่า” ซึ่งก็สะท้อนดนตรียุคแรกๆ ของ Black Sabbath มาได้อย่างชัดเจนมากถ้าจะเปรียบเทียบกับดนตรีในราวปี 1970)

จะเห็นได้ว่าการทรยศคำสัญญาของตนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ บอกว่าจะขายฝันร้ายก็ต้องขายฝันร้าย บอกว่าจะขายฝันดีนั้นก็ต้องขายฝันดี ไม่ใช่ว่าบอกว่าจะขายอย่างหนึ่งแล้วดันขายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็อาจสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ซื้อได้เป็นอย่างสูง แม้ว่าผู้ขายนั้นจะทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ทั้งๆที่รู้ก็ตามที ซึ่งความไม่พอใจดังกล่าวก็อาจนำใปสู่การเอาผิดผู้ขายฝันนั้น ซึ่งแม้ว่าความผิดดังกล่าวจะหนักหนาสาหัสปานประหาร 7 ชั่วโคตร (อีกรูปแบบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) ก็ไม่หมายความว่าฝันร้ายที่มาในนามฝันดีนั้น จะกลายเป็นฝันดีในที่สุดเพื่อที่จะให้ทุกอย่างนั้นจบแบบ Happy Ending เหมือนในหนัง Hollywood แต่อย่างใด ผลที่ตามมาในที่สุดนั้นก็ยังเป็นฝันร้ายที่จะมีคนพูดต่อมาว่าถ้าตอนนั้นคุณไม่ได้ซื้อฝันของไอ้เซลล์แมนคนนั้น คุณคงจะไม่มีปัญหาในตอนนี้ ต่อจากนั้น ก็ใช้เหตุผลอันยืดยาวพูดถึงความเป็นไปได้ที่เรานั้นจะไปถึงสภาวะที่ไม่ได้มีอยู่ (และไม่เคยมีอยู่) และก็ตบท้ายด้วยการขายฝันดีอันใหม่ถึงสภาวะดังกล่าวของเขาเอง

คำถามคือว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ฝันนั้นจะไม่กลายเป็นฝันร้าย อย่างที่เซลล์แมนคนก่อนเคยขายฝันดีให้? อาจจะไม่มีคำตอบ หรือกว่าจะมีคำตอบก็สายเกินแก้แล้ว จนต้องทำให้เซลล์แมนคนต่อมา มาเกลี้ยกล่อมขายฝันดีที่อาจกลายเป็นฝันร้ายอีก สิ่งที่จะเปลี่ยนฝันดีให้กลายเป็นฝันร้ายนี่อาจเป็นรูโหว่ตรงระบบสัญลักษณ์ของฝันดี ที่ภาษาแบบ Lacanian เรียกว่า วัตถุอันเป็นอื่น (objet-petit-a) ที่อาจเปลี่ยนทุกอย่างโดยสิ้นเชิงอย่างกลับหัวกลับหาง เช่นเดียวกับความขัดแย้งขั้นมูลฐานของฝันดีที่เซลล์แมนขายฝันดีนั้นไม่เคยบอก กว่าเราจะรู้นั้นเราก็ได้อยู่ในฝันดีที่กลายเป็นร้ายไปเสียแล้ว รูโหว่ดังกล่าวนั้นก็เช่นเคยว่าทำให้การพูดถึงฝันดีในฐานะฝันดีนั้นเป็นไปได้เมื่อเราได้ละเว้นที่จะไม่พูดถึงรูโหว่นั้น ซึ่งการดำรงอยู่ของสิ่งที่ไม่พูดถึงดังกล่าวนั้นนันเองที่จะทำให้ฝันดีนั้นมีศักยภาพภายในที่จะกลายเป็นฝันร้ายไปได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ดีการขายฝันหรือแม้แต่การประกันชีวิตหลังความตายนั้นคงเป็นสิ่งที่ขายดีอยู่ร่ำไป

สำหรับโลกที่อนาคตนั้นไม่มั่งคง (และไม่เคยมั่นคง) สิ่งที่เราอาจเห็นได้ตลอดไปก็อาจเป็นการขายฝัน และ การที่ฝันดีกลายเป็นร้าย ที่จะทำให้เซลล์แมนขายฝันคนอื่นๆ นั้นมีงานทำเรื่อยๆ ทว่าใครเล่านั้นจะไม่อยากฝันเมื่อโลกนั้นดูแต่จะมีความจริงอันโหดร้าย แต่สุดท้ายฝันนั้นก็อาจเป็นเพียงเครื่องมือในการพักตากอากาศชั่วคราวก่อนกลับไปเจอความจริงอันโหดร้าย ฝันนั้นเมื่อเราไม่เอาจริงเอาจังก็ยังเป็นฝันดี แต่เมื่อจริงจังกับมันนั้นมันก็อาจพลันเป็นฝันร้ายได้ทุกเมื่อ สุดท้ายเราก็อาจอยู่ในฝันที่จะเป็นฝันดีต่อเมื่อเราไม่จริงจังกับมันนัก เป็นฝันที่เรานั้นไม่อยากตื่นไปพบความจริงอันโหดร้าย และเป็นโลกในฝันที่เราอยากจะคิดว่ามันเป็นความเป็นโลกแห่งความจริง เหมือนตัวละครตัวหนึ่งใน Matrix ภาคแรก ซึ่งดูจะไม่ใส่ใจว่า “ฉันนั้นฝันเป็นผีเสื้อ หรือ ผีเสื้อนั้นฝันเป็นฉัน” แต่ดูสนใจว่า “เป็นฉันหรือเป็นผีเสื้อนั้นจะมีความสุขกว่ากัน” เสียมากกว่า
[1] บทความนี้ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากการวิเคราะห์ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ Slavoj Zizek ผู้เขียนจึงใคร่จะขอบคุณท่านทั้งสองเป็นอย่างสูง
การใช้ทฤษฎีแบบ Lacanian ทั้งหมดนั้นในการอธิบายปรากฏการทางสังคมได้รับอิทธิพลจาก Slavoj Zizek ส่วนการไล่เลียงความลักลั่นในระบบเหตุผลนั้น ไปจนถึงการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เข้าปะทะกับความเห็น (ผิดๆ?) กับปรากฏการในสังคมต่างๆที่คนนั้นเห็นว่าเป็นวิกฤติหรือ เป็นเรื่องใหม่อะไรก็ตามแต่ นั้นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร คนก็เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว นั้นได้รับอิทธิพลจากเป็นอย่างมาก ธเนศ วงศ์ยานนาวา (ซึ่งก็เป็นผู้แนะนำ Zizek ให้ผู้เขียนนั้นได้รู้จัก)
ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่ผู้เขียนใช้คำว่า “ได้รับอิทธิพล” ในความหมายอย่างนั้นจริงๆ ผู้เขียนไม่อาจกล่าวอ้างว่าตนนั้นเป็นผู้เข้าใจแนวคิดของทั้งสอง หากแต่ได้พยายามนำสิ่งที่ได้จากสิ่งที่ทั้งสองได้สื่อสารมาถึงผู้เขียน มาคิดต่อ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการซื่อตรงต่อต้นฉบับนั้นอาจไม่จำเป็นอย่างถึงที่สุด ถ้าการบิดพลิ้วเพียงเล็กน้อยนั้นจะนำไปสู่คำอธิบายใหม่ๆ อีกมากมาย แต่ว่าผู้เขียนก็ไม่สนับสนุนการใช้คำอย่างสามานย์จนอย่างไม่มีเค้าต้นฉบับจนทำให้ความหมายของต้นฉบับดังเดิมนั้นหายไปการนำจากสารบบของการสื่อความหมายดังกล่าว กล่าวคือความหมายดั้งเดิมนั้นไม่ใช่จุดอ้างอิงของคำดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งขอบเขตของการเคารพต้นฉบับนั้นก็เป็นสิ่งที่สุดแต่จะคิด แต่การที่ Zizek นั้นอาจบิดพลิ้วคำอธิบายของ Lacan เพื่อที่จะนำมาอธิบาย Pop Culture นั้นมันก็คงไม่เหมือนกันกับการที่คนหลายๆนั้นใช้คำว่า วาทกรรม, กระบวนทัศน์, หรือ รื้อสร้าง กันอย่างสามานย์ Lacan ใน Version ของ Zizek นั้นเป็น Lacan ที่ Zizek นั้นเคารพต้นฉบับมีการอ้างอิงกับต้นฉบับดั้งเดิมแม้จะมีการประยุกต์มาบ้าง แต่การที่หลายๆคนนั้นใช้ 3 คำดังกล่าว มันดูแต่จะเป็นการสักแต่จะพูด (เพื่อความโก้เก๋?) โดยที่ไม่ได้มีพื้นฐานอย่างจริงจังกับต้นฉบับเลย ทั้งๆ ที่ทั้ง 3 คำนั้นก็เป็นคอนเซ็ปต์ที่สำคัญมาก, ยากมาก, และ คลุมเครือมากถ้าจะเข้าใจมันจริงๆ ของนักคิดคนสำคัญทั้ง 3 การใช้คำเหล่านี้มั่วๆ จึงทำให้ผู้คนนั้นสับสนกับความหมายของคำเหล่านี้ได้ง่าย ซึ่งถามว่านั่นผิดหรือเปล่า ก็อาจไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความหมายของคำเหล่านี้มันได้ตกลงไปในท้องทะเลแห่งความไม่แน่นอนของความหมาย ไปจนกลายเป็น รูปสัญญะล่องลอย (Free-Floating Signifer) ที่หาความหมายที่แน่นอนไม่ได้ จนมันสามารถหมายความถึงหลายๆ อย่าง และ ก็ไม่ได้มีความหมายเลยในเวลาเดียวกัน ปัญหาที่ตามมาก็คือว่ามันจะทำให้การสื่อสารนั้นมีปัญหา ทำให้เกิดความสับสนระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร มันก็คงจะไม่มากเกินไปที่จะมีคนสักคนที่จะหวังให้การสื่อสารมันเป็นไปได้ด้วยดีกว่านี้ แม้ว่าสถานการการพูดที่เป็นอุดมคติ (Ideal Speech Situation) จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็ตาม
[2] ดูผลของอันน่าสะพรึงกลัวของการเปิดเผยรูโหว่ดังกล่าว ได้ในตัวอย่างที่ Zizek ยกมาจากเรื่องสั้นของ Patricia Highsmith ใน Slavoj Zizek, Looking Awry: An Introduction to Jacques Lacan through Popular Culture, (MIT Press, 1991), p. 8-9
[3] เมื่อพูดถึง Reality ในแบบของ Lacanian แล้วเราจำต้องแยก Reality ออกจาก Real อย่างชัดเจน เพราะ Reality นั้น คือความเป็นจริงที่คนนั้นเห็นโดยผ่านระบบสัญลักษณ์รวมไปถึงมายาภาพที่ทำให้ระบบสัญลักษณ์นั้นดูจะไม่มีรูโหว่ ที่ทำให้ระบบสัญลักษณ์นั้นดูมีความสม่ำเสมอ ทว่า Real นั้นโดยนิยามนั้นอยู่นอกระบบสัญลักษณ์
Real กับ Reality นั้นจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง ใน Reality นั้น Real ไม่ได้ exist เพราะสิ่งที่ exist นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบสัญลักษณ์ หรือถ้าจะกล่าวอย่างหยาบก็คือในภาษาเท่านั้น ในมุมมองแบบ Lacanian ในขณะเดียวกัน Lacan ก็ได้หยิบยืมคำศัพท์จาก Martin Heidegger มาเรียกการดำรงอยู่ใน Real ว่า ex-sist ดู Bruce Fink, The Lacanian Subject: Between Language and Jouissance, (Princeton University Press, 1995), p. 25, Slavoj Zizek, Looking Awry: An Introduction to Jacques Lacan through Popular Culture, (MIT Press, 1991), p. 136-137, Dylan Evans, An Introductory Dictionary of Lacanian Psychoanalysis, (London: Routledge, 1996), p. 58-59
[4] Slavoj Zizek, The Art of the Ridiculous Sublime: On David Lynch’s Lost Highway, (The Walter Chapin Simpsonn Center for the Humanities, 2000), p. 16

[5] เช่นเดียวกับที่ที่ Freud นั้นเห็นว่ากุญแจที่จะนำเราไปสู่ ความจริง ของการทำงานของจิตใจคนนั้น คือ สิ่ง “ผิดปรกติ” อย่าง ความฝัน การพลั้งพูดผิด (slips of the tongue) และ สิ่งผิดปรกติอื่นๆ จึงไม่แปลกเลยกับการที่ Lacan นั้นกล่าวว่า Marx นั้นเป็นผู้สร้าง อาการ (symptom) ขึ้นมา ดู Slavoj Zizek, The Sublime Object of Ideology, (Verso, 1989), p 128
[6] ซึ่งผู้ร้ายเป็นคนๆของประวัติศาสตร์ดังกล่าวนั้นก็เป็นสิ่งที่ว่ากันไปสำหรับอดีตที่เปลี่ยนไม่ได้ สำหรับอดีตที่เปลี่ยนได้นั้น นิยายที่ได้รางวัล Sidewise Award for Alternate History นามว่า Making History ของ Stephen Fry นั้นก็ตอกย้ำแนวโน้มภายในของยุคแห่งการรู้แจ้ง ได้เป็นอย่างดี นิยายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะย้อนเวลาไปทำให้พ่อ Hitler เป็นหมันจนทำให้ Hitler ไม่ได้เกิดมา มันก็มีคนเยอรมันคนอื่นอยู่ที่ที่จะเข้าไปในแทนที่ Hitler อยู่ดี (ซึ่งในกรณีนี้ก็ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ที่ในเรื่องนั้นเยอรมันสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ทันเวลา และชนะสงความโลกครั้งที่ 2) ดู Slavoj Zizek, The Art of the Ridiculous Sublime: On David Lynch’s Lost Highway, (The Walter Chapin Simpsonn Center for the Humanities, 2000), p. 38

1 Comments:

Anonymous Anonymous said...

พี่ตุลย์ ผมsearchเวบเจอใน googleด้วย

12:22 AM  

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast