Tuesday, November 22, 2005

Zizek's The Revenge of Global Finance/ thai translation

ระบบการเงินโลกชำระแค้น

จาก The Revenge of Global Finance By Slavoj Zizek

แปล และ เรียบเรียงโดย อธิป จิตตฤกษ์

“ซิธชำระแค้น” ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของมหากาพย์ไซไฟนามว่าสตาร์วอร์สนั้นได้นำเราไปสู่จุดหักเหครั้งสำคัญของหนังชุดนี้ ก็คือ การแปรเปลี่ยนของ อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ที่ดีไปเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ผู้ชั่วร้าย ตรงนี้หนังนั้นทำเช่นนั้นก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นการตัดสินใจที่เป็นคู่ขนานกันระหว่างการตัดสินใจส่วนตัวกับการตัดสินใจทางการเมือง

ในปี 2002 จอร์จ ลูคัสนั้นได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Time เกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจที่คู่ขนานกันดังกล่าว เขาได้ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจในระดับส่วนตัวด้วยตรรกะของ พุทธแบบชาวบ้าน (pop-Buddhism) ว่า “อนาคินนั้นกลายเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ เพราะเขานั้นยึดติดกับสิ่งต่างๆ เขาไม่สามารถปล่อยวางแม่ของเขา เขาไม่สามารถปล่อยวางแฟนของเขา เขานั้นไม่สามารถปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ นั่นทำให้เขานั้นมีความยึดติด และเมื่อเขามีความยึดติดเขาก็จะอยู่ในด้านมืด เพราะเขามีความหวาดกลัวต่อการสูญเสียสิ่งต่างๆ”

แต่สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนของโลกอย่างได้กึกก้องและเป็นที่สนใจของเราในที่นี้ไปยิ่งกว่าคำถามที่ว่า อนาคินกลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ได้อย่างไร ก็คือ คำถามทางการเมืองที่คู่ขนานกันมาในหนังว่า “สาธารณรัฐนั้นกลายเป็นจักรวรรดิได้อย่างไร?” หรือถ้าจะถามให้ตรงไปตรงมากว่านั้นก็คือ “ประชาธิปไตยนั้นกลายเป็นเผด็จการได้อย่างไร?” ลูคัสนั้นอธิบายว่าจักรวรรดินั้นไม่ได้เอาชนะและครอบครองสาธารณรัฐ ทว่า สาธารณรัฐนั้นได้กลายเป็นจักรวรรดิไปด้วยตัวมันเอง ราวกับว่าวันหนึ่งนั้นเจ้าหญิงเลอาและพรรคพวกนั้นก็ได้ตื่นขึ้นมาและกล่าวว่า “นี่มันไม่ใช่สาธารณรัฐอีกต่อไปแล้ว นี่มันคือจักรวรรดิ พวกเราคือผู้ร้าย!” นี่เป็นภาพสะท้อนอย่างร่วมสมัยของสมัยโรมันของการเปลี่ยนแปลงจากสาธารณรัฐไปสู่จักรวรรดิ์ จะนั้นมันจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำหนังเรื่องนี้ไปอ่านคู่กับ Empire ของ Hardt และ Negri[1] (ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐชาติไปสู่จักรวรรดิโลก)

ภาพสะท้อนทางการเมืองของโลกในโลกสตาร์วอร์สนั้นมีทั้งความหลากหลายและความไม่สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้โลกดังกล่าวนั้นมีพลังแห่งความเป็น เทพปกรณัมภ์และนิยายปรัมปราอยู่สูง ซึ่งบรรดาภาพสะท้อนของโลกต่างๆ นั้นก็มีตั้งแต่ โลกทัศน์แบบโลกเสรีแบบเรแกนปะทะกับจักรวรรดิที่ชั่วร้าย; การล่าถอยของรัฐประชาชาติ ซึ่งทำให้ชาตินิยมฝ่ายขวาอย่า Buchanan-Le Pen[2] นั้นจับมาสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการตนได้; ความขัดแย้งที่ชนชั้นสูง (เจ้าหญิง, อัศวินเจได ฯลฯ) นั้นต้องลงมาปกป้องสาธารณรัฐที่เป็น “ประชาธิปไตย”; และสุดท้ายก็คือการอ่านแบบ “เราคือผู้ร้าย” เพราะจักรวรรดินั้นโผล่ขึ้นมาผ่านการที่พวกเรา “พระเอก” นั้นทำการต่อสู้กับ ศัตรูข้างนอกนั่นจนเรากลายเป็นผู้ร้ายไปในที่สุด (สำหรับสงครามก่อการร้ายในทุกวันนี้ อันตรายที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงที่การที่สงครามดังกล่าวนั้นกำลังจะเปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็น...)

ความไม่สม่ำเสมอดังกล่าวนั้นทำให้สตาร์วอร์สนั้นเป็นนิยายปรัมปราทางการเมือง (Political Myth) ที่เหมาะสม เพราะนิยายปรัมปราทางการเมืองนั้นไม่ควรจะมีการบรรยาย (narrative) ที่มีความหมายทางการเมืองที่ตายตัว หากแต่ควรจะเป็นดั่งภาชนะอันว่างเปล่าที่เราสามารถใส่ความหมายที่หลายและไม่สม่ำเสมอหรือแม้กระทั่งความหมายที่แตกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดลงไปได้ ดังนั้นคำถามที่ว่า “จริงๆ แล้วนิยายปรัมปราทางการเมืองนี้มีความหมายว่าอย่างไร?” นั้นจึงเป็นคำถามที่ผิด เพราะว่า “ความหมาย” ที่แท้จริงของมันก็คือการเป็นภาชนะที่ใช้บรรจุความหมายอันหลากหลายนั่นเอง

ทว่า Star Wars I : The Phantom Menace นั้นก็ได้ทำการบอกใบ้เราไว้เป็นอย่างดิบดีสำหรับวิธีการที่เราควรจะอ่านหนังเรื่องนี้ที่เป็นภาชนะใส่ความหมายที่หลากหลาย เมื่อหนังนั้นแสดงถึงลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับไครสต์ ของอนาคิน (ตั้งแต่การเกิดที่บริสุทธิ์ของเขา ไปจนถึงชัยชนะการแข่งยาน [Pod-Car] ของเขา ซึ่งมันสะท้อนภาพการแข่งรถศึกอันโด่งดังใน Benher ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับไครสต์เช่นกัน) เนื่องจากกรอบทางอุดมการณ์ (Ideological Framework) ของโลกของสตาร์วอร์สนั้นเป็นแบบนิวเอจพากัน (New Age Pagan) มันจึงไม่แปลกอะไรที่สิ่งชั่วร้ายในหนังนั้นจะต้องสะท้อนภาพของไครสต์ออกมา เพราะการมาถึงของไครสต์ในโลกแบบพากันนั้นเป็นสิ่งที่นำพาความวุ่นวายให้มาถึง ภาพของปีศาจร้ายในโลกแบบพากันกล่าวนั้นคือภาพของจารีตแบบจูดาย-คริสเตียนโดยเฉพาะอย่างแน่นอน นอกเหนือไปจากนั้นไครสต์นั้นยังเป็นผู้สร้างความแตกแยก (Diabolic Figure) ตราบใดที่การทำให้แตกแยก (Diabolos) นั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการรวบรวมให้เป็นหนึ่ง (Symbolos) ไครสต์นั้นได้นำพาศาสตรามา หาใช่สันติภาพไม่ เพื่อที่จะรบกวนความเป็นหนึ่งเดียวอันกลมกลืนกันที่ดำรงอยู่แล้ง ดังเช่นที่ไครสต์นั้นบอกลุคว่า “ไม่ว่าใครก็ตามที่มาหาข้า แล้วไม่เกลียดพ่อของเขาและแม่ของเขา เมียของเขาและลูกของเขา พี่ของเขาและน้องของเขา หรือ แม้กระทั่งชีวิตของเขาเอง เขานั้นมิอาจเป็นสาวกของข้าได้”[3] ไครสต์นั้นจำเป็นต้องกระทำการแบ่งแยกเป็นขั้นแรก เพื่อที่จะได้สร้างชุมชนทาง “สัญลักษณ์” (“Symbolic” Comminity) ของบรรดาสาวกที่มีความเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้นจุดยืนของคริสเตียนนั้นจึงเป็นสิ่งที่แตกต่างกับคำสอนแบบพากันอย่างถึงรากถึงโคน สำหรับในโลกแบบพากันนั้นสิ่งที่ตรงข้ามกัน “แบบเก๊ๆ” ไม่ว่าจะเป็น ความดีกับความเลว, สิ่งที่ปรากฏกับสิ่งที่เป็นจริง, ความเขลากับปัญญา นั้นเป็นสิ่งซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่สิ่งที่คริสเตียนนั้นเห็นว่าเป็นการกระทำที่สูงส่งคือการ แบ่งแยก, การลากเส้นแบ่ง และ การยึดมั่นในฝั่งเดียวของเส้นแบ่งดังกล่าวนั้นจะเป็นการทำลายสมดุลของทั้งหมด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พวกพากันเห็นว่าเป็นแหล่งที่มาแห่งความชั่วร้ายทั้งมวล

จะเห็นได้ชัดว่าความมีเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งมวล (all-encompassing Compassion) แบบพุทธนั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความรักที่รุนแรงและไร้ซึ่งความอดทนแบบคริสเตียน เพราะจุดยืนในแบบพุทธนั้นคือการปล่อยวางและเมินเฉยต่อการผันแปรของสรรพสิ่ง (indifference) เพื่อที่จะทำการกำจัดความต้องการซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่าง (difference) ในสรรพสิ่ง ในขณะที่ความรักในแบบคริสเตียนนั้นเป็นความต้องการอย่างรุนแรงที่จะสร้างความแตกต่าง (different) ในสรรพสิ่ง สร้างช่องว่างในระบบระเบียบของสรรพสิ่ง ให้สิทธิพิเศษและยกวัตถุบางอย่างขึ้นไปให้เหนือกว่าวัตถุอื่นๆ

ความรักนั้นเป็นสิ่งรุนแรงไม่เพียงแต่ในการเข้าใจอย่างสามานย์ของคติบัลข่านที่ว่า “ถ้าเขานั้นไม่รักฉัน เขาจะไม่ตีฉัน” เพราะการเลือกความรักนั้นเป็นสิ่งที่รุนแรงในตัวมันเองอยู่แล้ว เนื่องจากมันกระชากวัตถุออกมาจากบริบทของมันและยกมันขึ้นไปให้อยู่ในระดับของ “สิ่ง” (The Thing)[4] ในนิยายพื้นบ้านมอนเตเนกรินนั้นรากฐานของความชั่วร้ายนั้นคือสาวงาม เธอได้ทำให้บรรดาผู้ชายนั้นเสียสมดุลย์ เธอระบายสีจักรวาลด้วยโทนสีต่างๆ และทำลายเสถียรภาพของจักรวาลด้วยการแต่งแต้มสีให้จักรวาลนั้นเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันและการแตกแยกเป็นส่วนๆ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ทางวาติกันได้กล่าวหาหนังสือขายดีของ แดน บราวน์ นามว่า รหัสลับดาวินชี อย่างรุนแรงว่าเป็นการเผยแพร่คำสอนที่ผิดๆ (ที่ว่าจีซัสนั้นได้แต่งงานกับแมรี่ แมกดาลีน และก็ได้มีทายาทด้วยกัน และจอกศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงแค่ช่องคลอดของแมรี่) ทางวาติกันนั้นรู้สึกแย่มากที่หนังสือดังกล่าวนั้นเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสิ่งชี้นำทางจิตวิญญาณ การแทรกแซงของวาติกันดังกล่าวนั้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูจะโหยหาอดีตกาลอันหวานชื่นที่สามารถสั่งเผาหนังสือได้โดยง่าย) เป็นสิ่งที่เหลวไหลสิ้นดี (ซึ่งจริงๆ ก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่ามีการสมคบคิดกันของวาติกันกับสำนักพิมพ์เพื่อที่จะเพิ่มยอดขายหนังสือดังกล่าวหรือเปล่า) อย่างไรก็ตามแต่เนื้อหาของสิ่งที่วาติกันกล่าวหานั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ รหัสลับดาวินชีนั้นได้ลากคริสเตียนนั้นกลับเข้าไปใส่ในกระบวนทัศน์แบบนิวเอจอีกครั้งอย่างสัมฤทธิ์ผลโดยการสร้างความสมดุลระหว่างหลักการแห่งความเป็นชายและความเป็นหญิง (musculine and feminine principles)

กลับมาที่ ซิธชำระแค้น หนังนั้นนอกจากจะสร้างความสับสนทางอุดมการณ์ในโลกนิวเอจดังกล่าวแล้ว หนังยังดำเนินเรื่องได้อย่างแย่มากอีกด้วย สิ่งที่แย่ดังกล่าวนั้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงจาก อนาคิน ไปสู่ ดารธเวเดอร์ นั้นขาดโดยสิ้นเชิงซึ่งโศภนาถกรรมที่มียิ่งใหญ่อย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังกล่าว แทนที่หนังนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การแสดงภาพของอนาคินที่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะทำความดีไปให้ถึงสุดขอบเพื่อคนที่ตนรักจนตนนั้นหลุดเข้าไปในด้านมืดในที่สุด หนังกลับแสดงภาพของอนาคินในแบบที่เป็นนับรบผู้ไม่สามารถตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่ค่อยไหลลื่นเข้าไปในด้านมืดทีละนิดด้วยความหลงใหลได้ปลื้มในอำนาจภายใต้มนต์สะกดของจักรพรรดิผู้ชั่วร้าย โดยย่อแล้วลูคัสนั้นน่าจะสามารถลากเส้นการเปลี่ยนแปลงที่คู่ขนานกันระหว่าง สาธารณรัฐ ไปสู่ จักรวรรดิ์ กับ อนาคิน ไปสู่ ดาร์ธเวเดอร์ ได้อย่างเหมาะสมกว่านี้ อนาคินนั้นน่าจะกลายเป็นปีศาจจากการที่เขานั้นเห็นสิ่งชั่วร้ายอยู่ทุกหนแห่งและก็พยายามจะต่อสู้กับมัน

ทว่านี่จะนำเราไปที่ไหนกัน? สิ่งที่น่าเย้ยหยันตามแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodern Irony) โดยแท้นั้นก็คือ การแลกเปลี่ยนกันอย่างพิลึกพิลั่นของตะวันออกและตะวันตก ในระดับของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Economic Infrastructure) นั้นเทคโนโลยีและทุนนิยมของตะวันตกนั้นก็ได้ครองโลกไปแล้ว ทว่าในขณะเดียวกันนั้นในกระดับของโครงสร้างส่วนบนทางอุดมการณ์ (Ideological Superstructure) มรดกตกทอดแบบยิว-คริสเตียน นั้นก็ได้ถูกท้าทายโดยความคิดนิวเอจในแบบเอเซีย ภูมิปัญญาตะวันออกในแบบดังกล่าวนั้น (ตั้งแต่ พุทธแบบตะวันตก [Western Buddism] ไปจนถึงลัทธิเต๋า) กำลังสถาปนาความเป็นเจ้าในทางอุดมการณ์ของทุนนิยมโลก (Global Capitalism) ทว่าในขณะที่พุทธในแบบตะวันตกนั้นกำลังนำเสนอตนเองในฐานะยาแก้ความเครียดของพลวัตอันบ้าคลั่งของทุนนิยม (โดยการทำให้เราได้มีความสงบสุขภายในอยู่บ้าง) มันก็เป็นส่วนเติมในทางอุดมการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของทุนนิยมโลก

เรามาลองพิจารณาปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า Future Shock กัน สำหรับ Future Shock นั้น มันเป็นคำที่ได้รับความนิยมใช้กันเป็นอย่างยิ่งในการหมายถึงปรากฏการณ์ที่สภาวะจิตใจของผู้คนนั้นไม่สามารถจะรับมือกับการที่สังคมและเทคโนโลยีนั้นทำการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ ก่อนที่คนนั้นจะสามารถคุ้นเคยกันนวัตกรรมใหม่ล่าสุดได้ สิ่งที่ใหม่กว่านั้นก็ได้เข้ามาแทนที่เสียแล้ว ซึ่งมันทำให้คนนั้นไม่สามารถ “สร้างแผนที่ทางความคิด” (cognitive mapping) ได้อย่างเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

ณ ตรงนี้ความคิดในแบบตะวันออกนั้นก็ได้นำเสนอทางออกที่ดีกว่าการหนีกลับไปหาสิ่งเก่าๆ ภูมิปัญญาตะวันออกนั้นได้เสนอว่า ทางเดียวที่จะสามารถรับมือการการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นก็คือการปล่อยวางจากการพยายามควบคุมสิ่งที่มันกำลังจะเป็นไป (ซึ่งการปฏิเสธการควบคุมดังกล่าวนั้นก็คือตรรกะของการครอบงำในสภาวะสมัยใหม่นั่นเอง) ในขณะเดียวกันเราก็ต้องลื่นไหลไปกับมันพร้อมกับการมีระยะห่างภายในและความเพิกเฉยต่อการร่ายรำอย่างบ้าคลั่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วดังกล่าว ระยะห่างดังกล่าวนั้นมีพื้นฐานมาจากการตระหนักรู้ถึงความไร้ซึ่งสารัตถะแก่นสารของสิ่งที่ปรากฏ (semblance) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแก่นแท้ของการดำรงอยู่ของตัวเรา (innermost kernel of our being)

มาถึงตรงนี้เรานั้นแทบจะต้องทำการยกสำนวนที่ฟังกันจนเลี่ยนกันแล้วของ Marxist อย่างศาสนาคือยาฝิ่นของประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง หรืออีกนัยน์หนึ่งศาสนาก็คือ ส่วนเติมเต็มทางจินตภาพของความทุกข์ทรมานในชีวิตจริง (imaginary supplement of real-life misery) ความสงบในแบบพุทธตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราที่จะทำให้เรานั้นสามารถเข้าร่วมในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและรักษารูปลักษณ์ที่ไม่เสียสติไปพร้อมๆ กัน ถ้าคนอย่าง Max Weber นั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงต้องเขียนหนังสืออีกเล่มนามว่า The Taoist Ethic and The Spirit of Global Capitalism ขึ้นมาเพื่อจะเติมเต็ม Protestant Ethic and The Spirit of Capitalism อันโด่งดังของเขา

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเคียงคู่ Star Wars III นั้นก็คงจะต้องเป็นสารคดีของ Alexander Oey ในปี 2003 นามว่า Sandcastles: Buddhism and Global Finance สารคดีดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วยการสนทนาระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ Arnoud Boot, นักสังคมวิทยา Saskia Sassen, และพระจากทิเบตนาม Dzongzar Khyentse Rinpoche ในสารคดีนั้น Sassen และ Boot นั้นได้พูดถึงอาณาบริเวณและอำนาจ รวมไปจนถึงอิทธิพลทางสังคมและเศรษฐกิจของระบบการเงินโลก (Global Finance) ซึ่งในปัจจุบันนั้นเป็นตลาดทุนที่มูลค่าปาเข้าไปถึง 83 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ ดำรงอยู่ภายใต้ระบบที่มีพื้นฐานอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ส่วนตน (self interest) ซึ่งเพียงแค่ข่าวลือเล็กๆ น้อยๆ นั้นก็สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมรวมฝูง (Herd Behavior) ที่จะสามารถทำลายมูลค่าของบริษัท หรือ แม้แต่ระบบเศรษฐกิจ ให้แหลกลาญ ได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

Khyentse Rinpoche พระชาวทิเบตนั้นก็ได้ย้อนนักวิชาการทั้งสองอย่างสุขุมโดยกล่าวถึงธรรมชาติของการรับรู้ของมนุษย์ มายา และ การตรัสรู้ Khyentse ได้พยายามทำความเข้าใจการการเริงระบำอันคุ้มคลั่งของการเก็งกำไรในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยถ้อยคำทางปรัชญาและจริยธรรมของเขาที่ว่า “จงปลดปล่อยตัวท่านออกจากความยึดติดในสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในความเป็นจริงแต่เป็นเพียงแค่การรับรู้” หลังจากนั้น Sassen นักสังคมวิทยาก็ได้กล่าวเกี่ยวกับทุนโลก (ราวกับเป็นเป็นเสียงสะท้อนความคิดในแบบพุทธที่ว่าตัวตนนั้นไม่มี มีแต่กระแสธารของการรับรู้) ว่า “มันไม่ใช่ว่ามันมี 83 ล้านล้านเหรียญอยู่ที่นั่น มันเป็นเพียงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มันหายไปและมันก็โผล่มาใหม่”

แต่เราจะอ่านภววิทยาแบบพุทธแบบคู่ขนานไปกับโครงสร้างของโลกของทุนนิยมเสมือน (Virtual Capitalism) นี้อย่างไรกันดี? สารคดีนั้นก็ดูจะนำพาเราไปสู่การอ่านแบบมนุษย์นิยม เมื่อเรามองผ่านแว่นแบบพุทธแล้ว ความร่ำรวยอันล้นเหลือของระบบการเงินโลกนั้นเป็นเพียงมายาภาพ ซึ่งแตกแยกออกจากความจริงในทางวัตถุวิสัย ซึ่งก็คือความทุกข์ทรมานของผู้คนจากข้อตกลงที่ทำกันในตลาดเงินทุนหรือ ห้องของผู้บริหารซึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ได้เห็นกัน แต่ทว่าถ้าเรายอมรับข้อเสนอที่ว่าคุณค่าของความมั่งคั่งในทางวัตถุและประสบการเกี่ยวกับโลกความเป็นจริงของเรานั้นเป็นเรื่องในเชิงอัตวิสัย และความปรารถนา (Desire) นั้นก็ได้มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของเรา และ ในเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ เรานั้นจะไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงข้ามกับตอนแรกโดยสิ้นเชิงเลยหรือ? บางที่เรานั้นอาจชินชาเกินไปกับการเห็นโลกนั้นผ่านความคิดอันอ่อนหัดที่ว่าสารัตถะของโลกภายนอกนั้นประกอบไปด้วยวัตถุที่คงที่ ทว่าทุนนิยมเสมือนนั้นก็ได้เข้าเผชิญหน้ากับเราด้วยธรรมชาติของความเป็นมายาภาพของความเป็นจริง (illusory nature of reality) สิ่งที่จะพิสูจน์ธรรมชาติอันไร้สารัตถะของความเป็นจริงนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือศักยภาพในการสูญสลายหายไปไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของมูลค่าจำนวนมหาศาล อันเนื่องมาจากข่าวลือที่เป็นเท็จ ดังนั้นจะไปว่าการเก็งกำไรทางการเงินว่ามันแตกแยกออกจากความจริงในทางภววิสัยไปทำไม ในเมื่อข้อเสนอพื้นฐานของภววิทยาแบบพุทธนั้นคือการไม่มี “ความจริงในทางภววิสัย”?

บทเรียนเดียวที่เราได้จากมุมมองในทางแบบพุทธสำหรับทุนนิยมเสมือนก็คือ เรานั้นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเรากำลังประจันหน้าอยู่กับภาพมายาที่ไม่ได้มีสารัตถะในการดำรงอยู่ ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปเล่นในเกมของทุนนิยมอย่างเต็มตัว ทว่าต้องเล่นมันอย่างรักษาระยะห่างภายใน ทุนนิยมเสมือนจึงเป็นเหมือนก้าวแรกของการ “ปลดปล่อย” มันเผชิญหน้ากับเราด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าต้นเหตุของความทุกข์ของเรานั้นไปใช่ความจริงในทางวัตถุวิสัย (เพราะมันไม่มีสิ่งเช่นนั้นอยู่) ทว่าเป็นความปรารถนาของเรา ความอยากของเราที่มีต่อบรรดาวัตถุรอบๆ เรา หลังจากถอยห่างออกมาจากความคิดที่ผิดเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เป็นสารัตถะดังกล่าวแล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อมาก็คือทำการปฏิเสธความปรารถนาดังกล่าวแล้วน้อมรับทัศนคติเกี่ยวกับระยะห่างและ ความสงบสุขภายใน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่พุทธนั้นจะสามารถทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มทางอุดมการณ์ของทุนนิยมเสมือนได้อย่างสมบูรณ์ มันทำให้เรานั้นเข้าไปเล่นได้ด้วยระยะห่างภายในและ ทำให้มือของเรานั้นสะอาด อย่างที่มันเคยเป็น

ซึ่งก็นั่นเองที่ทำให้เราจำต้องมีความจงรักภักดีต่อมรดกตกทอดของคริสเตียนในเรื่องของการแบ่งแยก และ การยกกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างให้เหนือกว่าอย่างอื่นต่อไป



Postface: From Lacanian Pop-Cultural Theory to Zizekian Political Critique

มีนักปรัชญาไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่จะมีอารมณ์ขันอย่างเหลือล้นในการเขียนงาน มีนักปรัชญาไม่กี่คนที่จะใช้ของพื้นๆ อย่าง หนังฮอลลีวูดหรือ เรื่องตลกลามก เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างทฤษฎีที่มีความซับซ้อนและเป็นนามธรรมสูงอย่างยิ่งในภูมิปัญญาตะวันตกอย่าง Hegel[5] หรือ Lacan[6] และ ก็มีนักปรัชญาไม่กี่คนจากภาคพื้นทวีปที่ไม่ใช่ ยิว, ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน ที่จะมีชื่อเสียงได้ในอเมริกาและในวงกว้าง…

... ในปัจจุบัน ณ ปี 2005 นั้น Zizek ด้วยวัยเกือบ 60 ปีนั้นก็ นั้นได้มีผลงานออกมาผลงานภาษาอังกฤษออกมาแล้วราว 30 กว่าเล่ม ซึ่งถูกแปลไปเป็นกว่า 20 ภาษาแล้ว นับจากผลงานชิ้นแรกในปี 1989 ของเขามาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลาราวทศวรรษครึ่งแล้วสำหรับชื่อเสียงของเขาที่คงจะไม่ต้องกล่าวอะไรกันมากกับผู้ที่ติดตามงานของเขา แต่ก็คงไม่รู้จะกล่าวอย่างไรดีกับผู้ที่ไม่ได้อ่านงานของเขา เพราะถ้าอ่านกันจริงๆ แล้ว ก็แทบจะเรียกได้ว่าคำถามที่ว่า งานของ Zizek นั้นพูดถึงอะไรนั้น เป็นคำถามที่ตอบได้อย่างยากลำบากมาก เพราะ ถ้า เอากันจริงๆ แล้ว งานของ Zizek นั้นแทบจะไปทำการสัมผัสเรื่องทุกเรื่อง ซึ่งอย่าว่าแต่หนังสือเล่มหนึ่งๆ ของ Zizek นั้นพูดถึงอะไรเลย บทแต่ละบทในหนังสือนั้นทำการพูดถึงอะไรยังพูดยากเลย แต่นี่ไม่ใช่ว่า Zizek นั้นเขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง เพราะ ถ้าจะตัดความยากบรรลัยของระบบในการวิเคราะห์ในแบบ Lacanian และ Hegalian ออกไปแล้ว งานของ Zizek นั้นก็ยังชูประเด็นที่ชวนคิดชวนติดตามได้อยู่ดี เพราะคงจะมีไม่กี่คนในโลกที่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลยและ นำเสนอมันออกมาได้อย่าง “เถื่อนๆ” เช่นนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้นอกจากงานของ Zizek นั้นจะเป็นอาหารหลักได้แล้วก็ยังสามารถ เป็นน้ำจิ้มแก้ความเลี่ยนของบรรดาความหมกมุ่นครุ่นคิดของปรัชญาในศตวรรษที่ 20 ที่ดูจะจมดิ่งลงไปกับภาษาที่เป็นนายมนุษย์ จนราวกับว่าในหลายๆ ครั้งแล้วโลกภายนอกนั้นไม่มีตัวตน

งานของ Zizek นั้นสุดจะบรรยายจริงๆ เพราะงานเขานั้นจะทำให้เรานั้นมึนตึ้บด้วยคอนเซ็ปต์อะไรก็ไม่รู้ แต่ทว่าเขาก็ใช้สิ่งเหล่านั้นทำการบรรยายสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างเหลือเชื่อจนราวกับว่าเรานั้นมีชีวิตอยู่ภายใต้กรอบแบบ Lacanian และ เขาก็ทำเช่นนั้นได้ด้วยอารมณ์ขันอันบ้าคลั่งสุดๆ เลยด้วย ซึ่งความจี้เส้นดังกล่าวนั้นจะเป็นสิ่งที่เรานั้นจะได้เป็นอย่างน้อยที่สุดกับการอ่านงานของ Zizek ซึ่งเปรียบดั่งการเดินทางๆ ความคิดที่จะนำพาเราไปโผล่ไหนก็ไม่รู้ ที่กว่าจะรู้ตัวว่ามาถึงที่ๆ หนึ่งได้ก็เล่นเอาเรามึนตึ้บว่ามานี่ได้ไง เพราะความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของแต่ละประเด็นนั้นจะถูกเชื่อม ถูกโยงวิเคราะห์ (ด้วยคำถามทำนองที่ว่า “แล้วอย่างนี้มันจะต่างอะไรกับ...”) และ ก็ข้ามไปประเด็นใหม่อย่างรวดเร็ว จนเราแทบจะไม่เห็นความต่อเนื่องถ้าเราไม่อ่านดีๆ กล่าวคืองานของ Zizek นั้นจะถล่มเราด้วยความคิดเป็นตั้งๆ อย่างที่เราแทบจะตั้งตัวไม่ทัน ซึ่งสิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังอ่านจบหลายๆ ครั้ง ก็คงจะเป็นเพียงความรู้สึกว่า “อ้าว จบแล้วเหรอ” และความหฤหรรษ์ที่พึงจะได้จากความคิดและตัวอย่างเพี้ยนๆ ของ Zizek

ทว่าสิ่งที่เรียกว่าความสนุก (Enjoyment, Jouissance) นั้นที่เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นแก่นสารในทางจิตวิเคราะห์แบบ Lacanian ที่ Zizek นั้นใช้อธิบายสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สากกะเบือยังเรือรบ ความสนุกดังกล่าวนั่นเองเป็นสิ่งที่ลึกลับและทรงสเน่ห์ยิ่งนักที่เรานั้นขาดหายไปราวกับว่ามีใครขโมยไป สุดท้ายแล้วจิตวิเคราะห์ในแบบ Lacanian นั้นก็สอนให้เรานั้นต้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาการของเรา (Identify with the Symptom [Sinthome]) ให้เรานั้นรู้ว่าตัวเรานั้นจัดการกับความสนุกอย่างไร กับการเลือกอะไรบางอย่างแทนที่การเลือกความว่างเปล่า (Choosing Something instead of Nothing) ทว่าความว่างเปล่าไม่มีอะไรนั้นเอง ที่กลายเป็นอะไรบางอย่าง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่กลับมาหลอกหลอนเราหลังจากที่เราจำต้องอยู่ในโครงสร้างของความเป็นไปได้ หรือ ระบบสัญลักษณ์หนึ่งๆ เพราะระบบสัญลักษณ์นั้นไม่สามารถรวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาได้ราวกับความเป็นองค์รวมอันพึงปรารถนา สิ่งที่ตามมาก็คือสิ่งที่หลงเหลือ (Leftovers) ซึ่งงานของ Zizek นั่นเองที่นำเราไปเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ และทำให้เราไม่เมองห็นความเป็นไปไม่ได้ภายในของเรานั้นเป็นศัตรูที่อยู่ข้างนอกของเราอีกต่อไป



[1] Empire นั้นเป็นหนังสือขายดีของ Michael Hardt และ Antonio Negri ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็น Communist Manifesto ของศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว Zizek นั้นได้ทำการวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน Rethinking Marxism, vol. 13, no. 3/4. ชื่อบทความว่า Have Michael Hardt and Antonio Negri Rewritten the Communist manifesto for the Twenty-First Century? ซึ่งก็หาอ่านได้ใน Lacan.com เช่นเคย นอกจากนี้ล่าสุด Zizek ยังได้วิจารณ์หนังสือเล่มใหม่ของ Hardt กับ Negri ที่มีนามว่า Multitude แล้วด้วย
[2] Buchanan นั้นคาดว่าเป็น Patrick Buchanan นักการเมืองขวาจัดอเมริกันที่เคย เข้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคRepublican กับ George W. Bush แต่แพ้ไป Jean-Marie Le Pen นั้นเป็นขวาจัดฝรั่งเศสเป็นหัวหน้าพรรค Front National ที่ผ่านเข้าไปชิงชัยกับประธานาธิบดี Jacques Chirac ในการเลือกตั้งฝรั่งเศสเมื่อปี 2002 มาแล้ว
[3] ดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ประวัติศาสตร์ครอบครัวตะวันตก: ประวัติศาสตร์คนใช้และการใช้คน. ใน รัฐศาสตร์สาร 23, 3 (2545), p. 6 ประกอบ (ผู้แปล)
[4] The Thing นั้นมาจากภาษาเยอรมันว่า Das Ding เป็นคอนเซ็ปต์ในทางจิตวิเคราะห์
[5] คงไม่ต้องสาธยายความยากบรรลัยและความเป็นนามธรรมของงานของนักปรัชญาจากเยอรมันผู้มีอิทธิพลแก่นักคิดจากซ้ายสุดไปยังขวาสุดผู้นี้
[6] Jacques Lacan นั้นเป็นนักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส มักจะเป็นที่รู้จักกันภายใต้ motto ของเขาที่ว่า “Unconcious Structure Like a Language” ซึ่งเป็นสิ่งที่แทนความเป็นนักจิตวิเคราะห์แนวโครงสร้างนิยมได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นเป็นเพียงงานช่วงที่สองของเขาถ้าจะแบ่งงานของเขาเป็นสามช่วงอย่างที่นิยมแบ่งกันในบรรดา Lacanian (ซึ่งเป็นสิ่งที่เคียงคู่ไปกับคอนเซ็ปต์ใหญ่ของเขาทั้งสามคือ Imaginary, Symbolic, Real) ว่ากันว่างานของเขาเป็นงานที่อ่านยากที่สุดในบรรดาพวกโครงสร้างนิยม (Stucturalism) ฝรั่งเศสที่รวมไปถึงงานของคนอย่าง Jacques Derrida, Michel Foucault, Louis Althusser, Claude Levi-Strauss

0 Comments:

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast