Tuesday, November 22, 2005

Notes on Music Categorization

การจัดประเภทดนตรี ความรู้ที่ไม่มีศูนย์กลาง

1
ต้องของเกริ่นนำนิดนึงว่าแรงบันดาลที่จุดประกาย ในผมเขียนบทความนี้ คือข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับแนวดนตรีๆ หนึ่ง ซึ่งผมเข้าไปพบใน Answer.com ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจาก Wikipedia (Encyclopedia ออนไลน์ซึ่งผู้ใช้เข้าไป Edit ได้) ผมลอง search คำว่า Metalcore ดู แล้วก็อ่านดูปรากฏว่ามันทะแม่งๆ เลยเข้าไปที่ Discussion Page ดูเท่านั้นแหละครับ ผมก็ได้พบกับข้อโต้แย้งที่วุ่นวายสุดๆ เกี่ยวกับว่า อะไรคือวงในแนวดนตรีนี้บ้าง, อะไรคือหมวดย่อย (Subgenre) ของแนวนี้ ตัวดนตรีในแนวนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งผมก็คิดว่า ใน Discussion Page ของแนวอื่นๆก็คงมีประเด็นเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งผมมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาอะไร กลับดีเสียอีกที่ ผู้คนได้มาตั้งคำถาม และมาถกเถียงกัน ถึงประเด็นที่เขาเห็นว่ามันเกี่ยวกับพวกเขา แม้มันก็คงไม่มีข้อสรุปก็ตาม การโต้เถียงดังกล่าวนี้อาจแสดงให้เห็นถึงทรรศนะต่างๆ กันต่อตัวหมาย (Signifier) หรือ พูดง่ายๆ ก็คือคำเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกันสำหรับผู้แสดงทรรศนะเหล่านี้ ก็คงจะเป็นตัวหมายถึง (Signified) หรือ สิ่งซึ่งคำดังกล่าวนั้นเป็นตัวแทน กล่าวคือ คนต่างคนต่างก็ใช้คำเดียวกันในการสื่อความหมาย แต่ความหมายนั้นมันดันต่างกัน และ แทบทุกคนก็เห็นว่าความหมายของตนเองนั้นถูกเสียด้วย
ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าวิธีคิดที่ไม่แยก สิ่งต่างๆออกจากคำที่ใช้เรียกมันนั้นมิใช่สิ่งที่เหมาะสม ในการที่จะนำมาทำความเข้าใจ ประกฎการดังกล่าว ผู้เขียนจึงอัญเชิญ มโนทัศน์เรื่อง สัญญะ (Sign) จากภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (Structural Linguistics) มา ทั้งนี้ทั้งนั้น รูปสัญญะ กับ ตัวหมาย นั้นมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Signifier และ ความหมายสัญญะ กับ ตัวหมายถึง นั้นมาจากคำว่า Signified เหมือนกัน ซึ่งทั้ง Sigifier และ Signified นั้นจะประกอบกันได้เป็นสัญญะ (Sign) ซึ่งมุมมองปกติก็จะมองตรงจุดนี้ จะไม่แยกคำกับความหมายหรือ สิ่งที่หมายถึง ออกจากกัน แต่เมื่อมีการใช้คำเดียวกัน หมายถึงสิ่งที่ต่างกันจนเกิดข้อโต้แย้ง ผู้เขียนจึงเห็นสมควรอย่างยิ่งว่าเรานั้นควรจะตระหนักถึง “ระยะห่าง” ระหว่าง “คำ” กับ “ความหมาย” ในการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ดังกล่าว
การโต้เถียงกันเรื่องแนวดนตรีเป็นสิ่งที่พบกันได้อยู่ทั่วไป ทั้งระหว่างผู้ที่คิดว่าตนเป็นผู้รู้ด้วยกัน ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ไม่รู้ด้วยกัน หรือการถกเถียงกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งการจะแบ่งว่าใครรู้ใครไม่รู้นั้นมันก็คงจะ การจ้องมอง (Gaze) ของผู้จัดประเภทเป็นหลัก กล่าวคือ การจะจัดว่าอะไรเป็นอะไรนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าคนจัดนั้นอยู่ตรงไหนด้วย เราคงไม่สามารถหาความเป็นสากลในการจัดประเภทนี้ได้ ถ้าในทางเทคนิคหน่อยคือ ความเป็นวัตถุวิสัย (Objectivity) ในการจัดประเภท เพราะนี่เป็นสิ่งที่ต่างคนต่างมอง ซึ่งแต่ละคนมองก็คงไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการจัดประเภทดังกล่าวซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งนั้นเป็นไปไม่ได้ มันอาจเป็นไปได้ในอาณาบริเวณของ สหอัตวิสัย (Intersubjectivity) ซึ่งเป็นมุมมองร่วมของหลายๆบุคคล ซึ่งก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง แต่นี่ก็ไม่ใช่ความเป็นวัตถุวิสัยที่ไม่ว่าใครกับใครก็ต้องเห็นเหมือนกัน ดังนั้นอาจมีข้อโต้แย้งจากนอกอาณาบริเวณ ของ สหอัตวิสัยดังกล่าว
การที่คนนั้นได้เสพงานดนตรีใกล้เคียงกัน ได้มาพูดคุยกันนั้น มันคงจะมีการแบ่งแนวเกิดขึ้น ในบทสนทนา (ไม่ว่ามันจะเป็นประโยคเริ่มต้นอย่าง “มึงชอบฟังเพลงพวกไหนวะ” หรือการพูดถึงอาณาบริเวณที่ไม่ชัดเจนอย่าง “ไอ้วงนี้มันเรียกว่าแนวอะไรวะ”) ซึ่งผู้สนทนานั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีนิยามแนวที่ตรงกันเสมอไป และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรายชื่อวงที่อยู่ในแนวดังกล่าวเหมือนกัน ตรงนี้การละเล่นกับความคลุมเครือในการนิยามแนว และความไว้หน้ากัน ในฐานะมิตรสหายอาจเป็นปัจจัยซึ่งลดแรงเสียดทานของความขัดแย้งก็เป็นได้
นี่ไม่ค่อยจะเป็นปัญหา แต่สิ่งที่กรณีข้อโต้แย้ง ใน Wikipedia สะท้อนมาก็คือ เมื่อใดที่มีคนได้เอื้อนเอ่ย (enunciate) ถึงการจัดประเภทดนตรีมาในพื้นที่สาธารณนั้นมันก็คงจะเป็นปัญหา เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า ความไม่เป็นกลาง ของการจัดประเภทดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งที่อย่าง Wikipedia ซึ่งผู้ใช้เข้าไป Edit และ วิจารณ์ได้นั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการหาข้อยุติไม่ได้ของการจัดประเภทซึ่งสิ่งที่เป็นที่โต้แย้งกันก็คงหนีไม่พ้นว่า สรุปว่าแนวนี้คืออะไร กับ วงไหนอยู่ในแนวนี้บ้าง ซึ่งก็เป็นที่ต้องการว่าข้อมูลเหล่านี้ต้องมีความเป็นกลาง (Neutrality)
ถึงตรงนี้ผู้เขียนขอบอกเลยว่าตนนั้นไม่เป็นกลางเพราะเป็นไม่ได้ และก็ไม่คิดว่าใครจะทำได้โดยแท้จริง ซึ่งนี่ยังไม่รวมความเป็นอคติ (bias) ของความเป็นกลางที่เร้นตนอยู่เบื้องหลังการปฏิเสธอคติแบบอื่นๆ แล้วเชิดชูตนขึ้นมาราวกับว่าการไม่มีอคตินั้นจะไม่ใช่อคติ กระนั้นก็ตามผู้เขียนก็คงต้องพยายามเป็นอะไรบางอย่างที่เป็นตองสนองความต้องการของผู้อ่านได้ ซึ่งผู้เขียนได้เคยพบและพูดคุยกับคนฟังเพลงมาก็มาก ฟังเพลงมาก็ไม่น้อย เล่นดนตรีก็เล่น พูดคุยกับนักดนตรีก็มีอยู่บ้าง หวังว่าประสบการณ์และการณ์สังเคราะห์ ของผู้เขียนนั้นจะได้สนองความต้องการของผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนมาพูดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีสถาบันทางความรู้ครอบงำหนุนหลัง (โอเค อาจมีสถาบันทางดนตรีที่ผลิตความรู้ดังกล่าวออกมาประปรายโดยทางอ้อม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสถาบันเหล่านั้นไม่สามารถรวมศูนย์ความรู้ทางการจัดประเภทไว้ได้และประกาศตนเองว่าเป็นผู้รู้โดยชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียว) ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจึงเกิดจากการพูดคุย อ่านการวิจารณ์ เกือบทั้งหมด ไม่มีศูนย์ความรู้ที่เป็นศูนย์กลางอย่างสถานศึกษา ที่ทำการผลิตซ้ำความรู้อื่นๆบางอย่างอยู่ร่ำไป
กลับมาที่ข้อโต้แย้ง ก่อนอื่นก็คงต้องวิเคราะห์ก่อนว่า Wikipedia นั้นเป็นพื้นที่แบบไหน ซึ่งผู้เขียน ก็คิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่ใช้ค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งผู้เข้าไปค้นก็คงจะระบุ (identify) ตนว่าเป็นผู้ “ไม่รู้” ที่เข้ามาหาความรู้ ซึ่งแหล่งความรู้ทางอินเตอร์เน็ตนั้นก็เป็นที่ว่ากันว่ามีส่วนที่เชื่อถีอไม่ได้อยู่จำนวนหนึ่ง (หรือมากกว่านั้น) ในกรณีนี้ Wikipedia ก็ทำการป้องกันข้อมูลมั่วๆ โดย เปิดโอกาสให้ผู้ “รู้” ได้เข้าไปแก้ไขข้อมูลที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งในกรณีข้อมูลอื่นๆซึ่งอ้างอิงความรู้กับสถาบันความรู้หลักของสังคมนั้นข้อยุติเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจะมองเห็น แต่ในกรณีการจัดประเภทดนตรี ซึ่งไม่มีการอ้างอิงดังกล่าว การโต้เถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็คงเป็นสิ่งซึ่งเข้าใจได้
การที่เราเรียกวงไหนว่าอะไรนั้น มันคงจะขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นจ้องมองจากอยู่ตรงไหน (Gaze) ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นไปได้ว่า สิ่งซึ่งวงเรียกตนเอง สิ่งซึ่งนักวิจารณ์เรียก สิ่งซึ่งแฟนเพลงตัวจริงของแนวบางแนวที่ระบุว่าวงนั้นเป็นแนวดังกล่าวเรียก สิ่งซึ่งแฟนของแนวเพลงใกล้เคียงเรียก สิ่งซึ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบเสียงดังกล่าวเรียก สิ่งซึ่งค่ายเทปและพวกแฟนเพลงตามกระแสเรียก นั้นอาจไม่เหมือนกันเลยก็ได้ในกรณีสุดขั้ว แล้วเราจะสรุปว่าแนวนั้นคืออะไรในเมื่อต่างฝ่ายต่างว่าตนถูก? คงไม่ได้ ซึ่งผมว่านี่เป็นสิ่งวิเศษสุดของดนตรี ที่เราจะพูดยังไงก็ได้เกี่ยวกับมัน ซึ่งมันก็อาจเป็น ความเป็นอะไรก็ได้ (anything goes) ปราศจากศูนย์กลางความรู้ที่รังแต่จะขัดขวางการพัฒนาของตัวมันเอง คล้ายกับที่ Paul K. Feyerabend แกะดำแห่งวงการปรัชญาวิทยาศาสตร์ กล่าวเสนอถึงสภาวะอนาธิปไตยของทฤษฎีความรู้เอาไว้ใน Against Method ไว้อยู่บ้างก็เป็นได้
ถ้าจะกล่าวในภาษาแบบ Americanized-imported-Foucaultian (ฟูโกที่ถูกทำให้เป็นอเมริกันและถูกนำเข้ามา) อย่างที่เป็นที่นิยมในวงปัญญาชนไทยหลายๆกลุ่ม ก็คงจะเป็นว่าวาทกรรมหลักไม่สามารถสถาปนาอำนาจตนและกำราบบรรดาวาทกรรมรองๆให้ สงบเสงี่ยมได้ ความหมายของแนวดนตรีจึงไม่ตายตัว และแน่นอน (ซึ่งก็อาจเป็นความรู้ดังกล่าวไม่เกี่ยวของกับอำนาจกระมัง) ถ้าในภาษาแบบแดริเดียนเก๊ๆ (Pseudo-Derridean) ก็อาจเป็นว่า เกิดการเล่น (Play) ของตัวบทได้ตามใจชอบจนไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของความหมายได้ แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว อธิบายเช่นนั้น มันคลุมเครือไป (ทั้งนี้ผู้เขียนมิอาจวิพากษ์แดริดาเพราะไม่มีปัญญาอ่าน) ผู้เขียนจึงคิดว่าวิธีหนึ่งซึ่งอาจอธิบายถึงความเป็นไปได้ในการจัดประเภท ก็อาจเป็นทฤษฎีเรื่องการจ้องมอง (Gaze) และการห่มคลุมทางอุดมการ(Ideological Quilt) ที่ Slavoj Zizek ได้ประยุกต์ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Jacques Lacan มาใช้ในการอธิบาย Pop Cultures
โดยย่อแล้วในแบบง่ายๆ ทฤษฎีดังกล่าวนั้น กล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีจ้าวแห่งรูปสัญญะ (Master Signifier) อะไรบางอย่าง เพื่อที่จะห่มคลุม (Quilt) และสร้างความหมายให้กับบรรดา รูปสัญญะ (Signifier) ที่มีลักษณะเป็นรูปสัญญะล่องลอย (Free-Floating-Signifier) กล่าวคือคำที่ถูกใช้ในหลายความหมายจนหาความหมายตายตัวไม่ได้ จุดที่เราจะห่มคลุมนั้นก็คือจุดที่เราระบุ (Identify) ตนในระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) นี่อาจยากแต่ตัวอย่างที่ Zizek ให้ไว้ก็อย่างเช่น ถ้าคุณเป็น Marxist (มี Marxist เป็น Master Signifier) ถ้าคุณเห็นว่าขบวนการ Feminist นั้นไม่มีความชัดเจน คุณก็จะไปห่มคลุมทางอุดมการ แล้ว สร้างความหมายว่า การกดขี่ผู้หญิงนั้นเป็นเหตุมาจากทุนนิยม วิธีเดียวที่จะถอนรากถอนโคนการกดขี่ผู้หญิง ก็คือถอนรากถอนโคนทุนนิยม หรือ ถ้าคุณไปมองพวกอนุรักษ์ธรรมชาติ (Environmentalist) คุณก็อาจเห็นว่า การที่ธรรมชาตินั้นสึกหรอลงอย่างต่อเนื่องนั้นมีเหตุมาจากนายทุนสมคบกับรัฐ ซึ่งวิธีแก้ก็คือถอนรากถอนโคนทุนนิยมเช่นกัน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการห่มคลุมทางอุดมการนั้นเป็นการสร้างความหมายที่ชัดเจน ให้กับบรรดารูปสัญญะที่มีความหมายลื่นไหล ไม่แน่นอน
เช่นกันเมื่อเราได้ จุดที่เราระบุตนแล้ว เราก็สามารถจ้องมองโดยรอบได้โดยไม่สับสนเท่าใดนัก อย่างผมที่ฟังเพลงอย่างที่คนที่ไม่คุ้นเคยอาจเรียกต่างๆกันไป ว่า ร็อคบ้าง เฮฟวี่บ้าง ฯลฯ ผมไม่ฟังพวกที่ใช้เสียงสังเคราะห์เป็นหลักเลย ผมก็อาจเรียกพวกนั้น ว่า อีเล็กโทรนิก้า ทั้งๆที่ผมก็รู้ว่า เขาคงเรียกตัวเองอย่างแยกย่อยกว่านั้น หรือ เวลาที่ผมเห็นวงออเคสตร้า ผมก็เหมาว่าเป็นเพลงคลาสสิกไปหมดเลย ทั้งๆที่ก็รู้มันมันแยกไดอีแต่พอดีแยกไม่เป็น เป็นต้น แต่เวลาผมอยู่ในอะไรที่ผมคุ้นเคยก็แยกย่อย ในระดับหนึ่งเลย และผมก็เข้าใจว่าคนที่อยู่นอกวงโคจรผมนั้น ก็คงไม่เห็นความแตกต่างอะไรหรอก ในสิ่งที่ผมฟัง และในสายตาคนข้างนอกแล้ว ผมก็อาจไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากคนที่ฟังเพลงหนวกหู (จริงผมเปิดค่อนข้างเบามากนะ) ผมว่าประเด็นตรงนี้อยู่ที่ว่า ความหมายของอะไรนั้นขึ้นอยู่กับจุดที่เราอยู่ เราเป็นและ เรามอง ซึ่งผมก็คุ้นเคยกับตรงนี้เลยตั้งข้อสังเกต เพราะการจัดประเภทดนตรีนั้น ห่างไกลความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) ที่ครอบคลุมศาสตร์จำนวนมากอยู่ และ ผมก็ดีใจมากที่อิทธิพลดังกล่าวไม่สามารถ สถาปนาความรู้ในการจัดประเภทได้ (แม้จะมีบางคนพยายามก็ตาม) กรณีที่ผมพึ่งยกมาสดๆเนี่ยก็คือว่าถ้ามันไม่มีสถาบันความรู้แล้วเกิดอะไรขึ้น ประเด็นมันก็เลยไปอยู่ที่การจ้องมอง ของผู้คนจากจุดต่างๆ (ซึ่งมันก็ซับซ้อนอยู่และเกี่ยวเนื่องกับการปฏิสัมพันธ์ของหลายๆฝ่ายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) และสื่อสารกันระหว่างบุคคล แต่นี่ก็คงเป็นจุดที่ต่างอยู่เสมอกับการจ้องมองอย่างวิทยาศาสตร์ (Scientific Gaze) ที่จะกล่าวเสมอว่าตนนั้นไม่มีอคติ และ เชื้อเชิญให้คนมาสมาทาน ซึ่งก็คงเป็นเพียงการละคติอื่นๆ แล้ว หันมามีคติว่าไม่มีอคติ อย่างวิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีอคติจริงไหมก็คงต้องพูดกันอีกยาว (แค่อคติชาติพันธุ์กับเพศก็ยุ่งแล้ว) แต่เมื่อมันสถาปนาเป็นสถาบันความรู้ได้ และมีสาวกจำนวนมาก ผมว่าก็คงต้องใช้ไม่ ฟูโก ก็ กรัมชี่ วิเคราะห์ก็คงจะเหมาะกว่าแล้วล่ะ

2. แยกธุรกิจออกจากดนตรีซะ!

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่มีความจำเป็นที่คนจะเรียกสิ่งเดียวกันเหมือนกันหรอกครับ ถามว่าผมชอบไหม ผมไม่ชอบหรอกครับเวลาที่คนเห็นไม่ตรงกับผม แต่ผมโอเคเวลาที่เรายอมรับความต่างระหว่างกัน ผมเรียกอย่างนี้นะ เขาเรียกอย่างนี้นะ แต่ก็เป็นบางคนเท่านั้น กล่าวคือคนที่ผมยอมรับ แบบว่าเด็กวัยรุ่นที่กำลังคลั่งแนวที่บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าตนนั้นแตกต่างเพราะแรงโปรโมทจากสื่อเนี่ย ผมไม่รู้จะพูดว่าไงพอๆกับวงที่ถูกโปรโมท ให้ตายเหอะผมเกลียดธุรกิจดนตรีฉิบหายเลยว่ะ มันทำทุกอย่างเป็นสินค้าได้จริงๆนะเนี่ย (อาจมีประเด็นเรื่องดนตรี กับ ลิขสิทธิ์สาธารณะ ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกที่จะพูดเรื่องนี้ในเชิงชื่นชมในประเทศที่รัฐเป็นศัตรูกับเทปผีซีดีเถื่อน และปราบกันอย่างหนักอยู่เรื่อย แม้ว่าผมจะไม่เคยซื้อ เพราะโหลดเอาประหยัดกว่า) ถ้าเกิดผมเป็นรัฐผมแล้วผมบ้าๆ ผมอาจห้ามทำเพลงเพื่อการขายเลยนะเนี่ย แล้วจัดหน่วยงานเผยแพร่งานของวงฟรี จัดเวทีให้เล่นฟรี ฯลฯ อะไรที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ก็ว่ากันไป (แต่ปัญญาชนก็ทำกันมาแต่โบราณแล้วไอ้การพูดถึงสภาวุอดมคติที่ไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกเนี่ย) แต่คนดนตรีอย่างผมคงมีน้อยกระมัง เห็นอยากเซ็นสัญญากับค่ายกันจัง ผมว่าถ้าอยากรวยและดังก็ไปทำอย่างอื่นดีกว่า (ถ้าทำไม่ได้ก็ขอโทษที่ตอกย้ำ) ผมบอกก่อนนะว่านี้เป็นความคิดของผม ผมก็คงดีใจถ้ามีคงคิดเหมือนผม คิดไม่เหมือนผมก็แล้วไป เพื่อนผมเป็นนักดนตรีก็เยอะแยะเซ็นสัญญากับค่ายก็มีทั้งเล็กใหญ่ ผมว่านี่เป็นการแย่งชิงกันนิยามความหมายของดนตรีที่ดีนะ ผมก็แค่อยากแยกดนตรีออกกับจากธุรกิจเท่านั้นเอง ผมมันก็แค่คนดนตรีชายขอบที่เห็นว่ากระแสหลักนั้นทุเรศทุรังเหลือเกินคนหนึ่ง และ เกลียดความเป็นดาราของนักดนตรีฉิบหาย (ผมแยกผลงานออกจากคนทำนะ ถ้าคนทำระยำแต่ผลงานนั้นผมรู้สึกว่าดี ผมก็ชมผลงานด่าศิลปิน ไม่งั้นผมคงต้องไม่ใด้ฟังอะไรอีกมาก แต่ก็แน่นอนครับ ผมไม่สนับสนุนเป็นตัวเงิน หรือ ซื้อเทป ถ้าเขาทำระยำจนหมดตัวผมก็นักถือเขาในการที่เขามุ่นมั่นในการผลิตงานระยำออกมา)
ผมว่ากรณีอย่าง Napster นี่ก็นาสนใจนะ น่าศึกษา
ผมว่าหยุดเรื่องธุรกิจดนตรีนี้ไว้ดีกว่า ซึ่งที่ผมกล่าวมาเนี่ย ผมคิดว่าการจัดประเภทที่ผมรับไม่ได้ที่สุด ก็คือการจัดประเภทเพื่อเพิ่มยอดขาย ไอ้ผมไม่ว่าอะไรหรอกถ้าจะมีคนที่ไม่รู้จักแนวอะไรบางอย่างแล้วเรียกผิดๆ ถูกๆ อย่าทำตัวเป็นผู้รู้และเกรงกันบ้างก็พอ ถ้ามองในกรอบนี้หลายๆครั้ง พวกธุรกิจดนตรีก็ได้ใช้สื่อมวลชน ในการประโคมแนวมั่วๆซั่วๆ จริงอยู่ถ้าย้อนไปดูในประวัติศาสตร์มันอาจมีเรื่องคล้ายๆกันมากมาย แต่ผมก็ไม่ชอบอยู่ดีว่ะ และเห็นทางแก้เดียวคือ ต้องแยกดนตรีกับธุรกิจ ซึ่งก็เป็นอุดมคตินะครับ เพราะอย่างน้อยนักดนตรีในประวัติศาสตร์ตะวันตก ตังแต่ยุคกลาง ก็ได้เร่ร่อนเล่น ต่อมาก็อยู่ในราชสำนัก หลังจากนั้น ก็มีการเปิดการแสดงและขายบัตรให้ชนชั้นกลางที่ไม่มีโอกาสมีนักดนตรีในครอบครองของชนชั้นสูงได้เสพบ้าง ดูมาตามนี้ดนตรีกับธุรกิจไม่เคยห่างกันเลย แต่ว่า ผมว่าความเป็นธุรกิจของดนตรีมันจะเข้มข้นเมื่อมันไปอยู่กับทุนใหญ่ ซึ่งสำหรับผมนั่นคือการแปลงเสียงให้เป็นสินค้า แต่ว่ามันก็มีตลาดย่อยๆ ให้ทุนเล็กจับเหมือนกัน (ผมไม่อยากด่าทุนนิยมเพราะคนด่ากันจนเป็นแฟชั่นแล้วในคนบางกลุ่ม ซึ่งหลายๆครั้งผมก็เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าทุนใหญ่ หรือ ทุนเล็กมันก็ทุนเหมือนกัน) ก็นี่แหละครับที่ผมว่าทำให้การจัดประเภทมีปัญหาอย่างน้อยก็กับผม และ หลายๆคนที่ผมรู้จัก แต่ผมก็เห็นผู้พังมากมายที่ไม่ได้คล้อยตามสื่อ ซึ่งผมก็ดีใจมาที่มีคนอย่างนี้อยู่ แต่ในหมู่คนเหล่านี้ (ตัดอิทธิพลของบรรดาสื่อมวลชนออกไป) ข้อโต้เถียงเรื่องแนวก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้อยู่ดี ซึ่งผมว่าไม่ต้องมีความต้องการที่จะสรุปมันหรอกครับ แค่ตระหนักตรงนี้ก็พอว่ามันสรุปไม่ได้หรอก แล้วก็เข้าไปในข้อโต้แย้งเท่าที่อยากและจำเป็นเท่านั้นเอง

3. นักเล่น, นักฟัง และการแบ่งประเภท

การทำตนเป็นผู้รู้ในการจัดประเภทดนตรี ในพื้นที่ส่วนตัว (Private Sphere) กล่าวในคือบทสนทนาทั่วๆไปนั้นต้องระวังไว้ให้จงหนักยิ่งกับคนที่เรายังไม่รู้จักในการบอกว่าวงอะไรเป็นแนวอะไร การกระทบกระทั่งกันนั้นมีได้ง่ายมาก ผู้เขียนเคยเห็นๆอยู่ บางทีก็ถึงกับเกลียดกันหรือมีเรื่องกันไปเลย เพียงแค่ว่าต่างผ่ายต่างคิดว่าการแบ่งของตนคือที่สุดแล้วเท่านั้น ความโกรธเกรี้ยวนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ก็อีกผ่ายมันเอาแต่พล่ามสิ่งที่เราคิดว่ามันไม่ใช่ แล้วไม่รู้ว่ามันจะไปบอกให้คนเข้าใจผิดอีกตั้งเท่าไหร่ ก็ต้องเถียงมันซะหน่อย สุดท้ายก็ทะเลาะกัน ไม่ทำให้ดนตรีสร้างสรรค์ หรือ มีอะไรใหม่ๆขึ้นเลย แต่มันก็อดไม่ไหว ในแง่หนึ่งนั้นการจัดประเภทที่ไม่ตรงกับตนนั้นเป็นการคุกคามสถานะของความเป็นผู้รู้ของตน และการเผยแพร่การจัดประเภทดังกล่าวไปสู่ผู้อื่นนั้นก็ยิ่งเป็นการคุกคามหนักเข้าไปอีก ซึ่งจะทำให้ตนต้องไปแก้ความรู้ผิดๆนั้น และ อาจต้องมีปากเสียงกับผู้อื่นเพิ่มขึ้นอีก เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นนั้น ผู้ที่จะจัดประเภทได้และเป็นที่ยอมรับนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ฟังเพลงมามาก ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นนักวิจารณ์ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมเห็นได้บ่อยๆก็คือคนชอบไปถามความเห็นพวกนักดนตรี (ผมหมายถึงพวกที่เล่นดนตรีกันอย่างจริงจังที่วันๆนั้นไม่ทำอย่างอื่น) ซึ่งเป็นบุคคลประเภทสุดท้ายที่ผมจะไปถามถึงแนวดนตรี ความเห็นของคนพวกนี้คนก็ฟังกันเสียด้วยทั้งที่หลายความเห็นนั้นเป็นที่น่าหัวเราะในหมู่แฟนเพลงของแนวที่นักดนตรีเหล่านั้นกล่าวถึงด้วยซ้ำ (ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะว่านักดนตรีทั้งหมด เพราะผู้เขียนก็เคยพบเคยเห็นนักดนตรีที่ทำการแบ่งประเภทอย่างระมัดระวังอยู่) ผู้เขียนว่าตรงนี้ต้องระวัง เพราะ คนมักจะชอบมองว่าคนเล่นดนตรีนั้นมีความรู้เรื่องดนตรีดี จะถามอะไรเกี่ยวกับดนตรีก็จะได้คำตอบที่ดี สำหรับผู้เขียนแล้วคำตอบเดียวที่ผู้เขียนว่าคนเหล่านี้จะตอบผู้เขียนได้ดีที่สุดก็คือ “เพลงนี้เล่นยังไง” ไม่ใช่คำถามว่า “เพลงนี้คือแนวอะไร”
จากประสบการณ์ของผู้เขียนแล้วผู้ที่จะมีหลักมีเกณฑ์ในการแบ่งแนว ที่สุดต้องเป็นคนที่ฟังเพลงมากพอควรอยู่ (ซึ่งการที่ต้องหาอะไรใหม่ๆมาฟังนั้นจะบีบให้ไปพูดคุยกับคนอื่นๆหรือหาอะไรอ่านเอง) ซึ่งถ้าเปรียบเทียบในเชิงสัมพัทธ์แล้ว นักฟังจริงๆ กับ นักดนตรี นั้นมีปริมาณในการฟังเพลงคนละเรื่องกันเลยที่เดียว เพราะนักฟังนั้นพังมากกว่าและกว้างกว่าหลายเท่านัก (คนที่พูดว่าตนเองฟังเพลงทุกแนวนั้นไม่รู้หรอกว่าตนพูดอะไรออกมา) โดยส่วนใหญ่เท่าที่ผู้เขียนรู้จัก แต่นักดนตรีที่ผูกติดกับแนวบางแนวซึ่งวันๆก็เอาแต่ฟังเล่นแนวไหนแนวนั้นก็เป็นจุดอ้างอิงที่ไม่เลวในการแบ่งแนว ซึ่งการแบ่งแนวในกรณีนี้การถามคนในเพื่อที่จะเอาข้อมูลข้างในเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ในทางตรงข้ามการถามคนในเพื่อที่จะเอาข้อมูลข้างนอกนั้นอาจได้คำตอบที่เสียไปที เนื่องจากที่ผู้ถามคิดว่าผู้ตอบจะรู้ ในภาษาแบบ Lacanian คือนักดนตรีกลายเป็น ซับเจคของความรู้ (Subject supposed to know) ซึ่งผู้ไม่รู้ถามเพื่อจะหาความรู้ ซึ่งนักดนตรีจะมีหรือเปล่าก็อีกเรื่อง ซึ่งการตอบแบบขอไปทีซึ่งก็อาจได้มาซึ่งการแบ่งแนวที่ฝ่ายอื่นๆมิอาจยอมหยวนๆได้ เช่นการที่คนไม่รู้เรื่องดนตรี เรียกเพลงทุกเพลงที่มีกีต้าร์เสียงแตกว่าร็อค ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามาที่คนไม่ค่อยพูดถึงในการจัดประเภท ซึ่งผมเป็นคนที่ทั้งฟังและเล่นดนตรีจึงได้คุ้นเคยกับคนพวกนี้ และผมก็ไม่เคยเห็นใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาสนทนา หรือมันอาจเป็นสิ่งซึ่งคนไม่กี่คนประสบ ซึ่งผมจะเห็นเลยว่าสำหรับวงๆเดียวนั้น คนเล่นดนตรีแนวนี้เรียกอย่างหนึ่ง คนเล่นดนตรีอีกแนวเรียกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจไม่ซ้ำกับแนวที่แฟนเพลงของวงเหล่านั้นเรียก เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะรู้สึกมากเลยว่านี่มันอะไรกันวะ แล้วจะรู้สึกว่าต้องมีซักฝ่ายมั่ว แต่หลังจากนั้นผู้เขียก็พอจะเข้าใจในความแตกต่างกันของหลักการในการแบ่งประเภทและคำที่ใช้เรียกของแต่ละฝ่าย ในแง่นี้รูปสัญญะ (signifier) หลายๆรูปนั้นถูกใช้ในการสื่อถึงความหมายสัญญะ (signified) ความหมายเดียว หรือในอีกแง่หนึ่งเราจะถือได้รึเปล่าว่ากลุ่มวัฒนธรรมย่อยในหมวดดนตรีนั้นต่างก็มีภาษาของตนเองไว้ใช้เรียกแนวดนตรีต่างๆ แต่ปัญหาที่จะพบคือ แต่ละภาษานั้นมีการใช้คำซ้ำกัน ซึ่งถ้าเข้าใจตรงนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ตระหนัก เวลาไปพบเจอคำเหล่านี้แล้วคิดว่ามันมีความหมายคงที่ เราก็คงเกิดปัญหาในการตีความอยู่ข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่บ้าง

4. ความเป็นแนวที่เกินภาษาจะไขว่คว้า Music Category as Real

กลับมาที่ Wikipedia การโต้เถียงนั้นยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งข้อมูลหลังจากผ่านการโต้เถียงแล้ว ก็คงจะเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง กล่าวคือเป็นที่ตกลงของหลายๆฝ่ายแล้ว หรือ อีกนัยน์หนึ่งนั้นคำที่ใช้ ในการอธิบายแนวๆหนึ่งนั้น ต้องมีความคลุมเครือเพียงพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายรับได้ และ มีข้อยกเว้นที่จำเป็นในการอธิบายถึงการที่มีวงบางอย่างที่ถูกเรียกอย่างนั้นแต่ไม่เป็นไปตามนิยามทั้งหมด ซึ่งถ้าจะเข้าไปในรายละเอียดนั้นว่าวงอะไรเป็นอะไรก็คงต้องเถียงกันอีกยก ผู้เขียนเชื่อว่าผู้จัดประเภทดนตรี เกือบทั้งหมดนั้นเริ่มจากทำการเรียกวงหลายๆวงว่าเป็นแนวอะไรก่อน ก่อนที่จะทำการหาจุดร่วมของวงเหล่านั้นและทำการนิยามแนว กล่าวคือทำการปะป้ายก่อนแล้วจึงพยายามทำการอธิบายตรรกะของการปะป้ายดังกล่าว ซึ่งการอธิบายไม่ได้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตรรกะเบื้องหลังการปะป้ายดังกล่าวนั้น ไม่ได้ถูกทำให้เป็นภาษาตั้งแต่แรก
การทำให้มันเป็นภาษานั้นมันคงจะทำให้มีสิ่งหลงเหลือมาเสมอ ซึ่งนี่คล้ายกับสิ่งที่ Lacan พูดถึง Real ซึ่งต่อต้านการทำให้เป็นภาษา (Symbolization) ซึ่งทุกครั้งที่เราพยายามทำให้มันเป็นภาษามันจะเกิดสิ่งหลงเหลือ (Leftover) เสมอ ซึ่งสิ่งนั้นมันถูกเรียกว่า objet-petit-a (object little other) ซึ่งผมขอเรียกว่าวัตถุอันเป็นอื่น ซึ่งสิ่งนี้เองมันจะสร้างความแตกต่างในที่ซึ่งความแตกต่างมันไม่ใด้อยู่ในระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) มันเป็นสิ่งที่อยู่ในแนวดนตรีมากกว่าแนวดนตรีเอง (In Music Category more than Music Category) ตัวอย่างเช่นดนตรีฮาร์ดคอร์ นั้นแตกต่างจากดนตรีพังค์ ตรงที่มันเป็นดนตรีฮาร์ดคอร์ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวนั้นไม่สามารถจะอธิบายเป็นภาษาได้ ตรงนี้ Slavoj Zizek ได้ทำการอธิบายความแตกต่างของยิวกับชนชาติอื่นๆไว้ว่า มันคงเป็นการมองผิดประเด็นที่เรามองว่าโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า “ชาวยิวนั้นขี้เหนียวและเห็นแก่ตัว” นั้นทำให้คนเกลียดยิว ตรงข้าม Zizek บอกให้เรากลับประโยคใหม่ว่าโฆษณาชวนเชื่อนั้นหมายความว่า “พวกมันขี้เหนียวและเห็นแก่ตัวเพราะพวกมันเป็นยิว” ซึ่งความเป็นยิวนี่เองคือวัตถุอันเป็นอื่น (objet-petit-a) ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ภายใต้ระบบสัญลักษณ์ แต่มันก็มีผลทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นอย่างน้อยพวกนาซีก็ใช้มันได้ผล
นี่อาจอธิบายได้บ้างหรือเปล่า กับการที่เราไม่สามารถอธิบายแนวดนตรีเป็นภาษาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทุกครั้งที่เราพยายามทำอย่างครอบคลุมที่สุดมันก็ยังคงมีอะไรหลุดรอดไปจากคำอธิบาย ราวกับว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ ในแง่ความเป็นแนวดนตรีหนึ่งๆนี้มันจะเหมือนเรื่อง แมคกัฟฟิน (McGuffun) ของ Alfred Hitchcock หรือเปล่า ซึ่งเรื่องเล่าก็มีอยู่ว่า มีชายอยู่สองคนนั่งอยู่ตรงข้ามกันในขบวนรถไฟแห่งหนึ่ง ชายคนหนึ่งวางกระเป๋าไวบนตักของเขา ชายที่นั่งฝั่งตรงข้ามถามว่า “คุณใส่อะไรไว้ในกระเป๋าน่ะ” “ไอ้นี่เหรอ มันคือ แมคกัฟฟิน” “แมคกัฟฟินมันคืออะไร” “มันคือที่ดักสิงโตทางตอนเหนือของสกอตแลนด์” “แต่ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ไม่มีสิงโตนี่” “งั้นนี่มันก็ไม่ใช่แมคกัฟฟินน่ะสิ” จะเห็นได้ว่าแมคกัฟฟินนั้นมันคือความว่างเปล่า ที่ทำให้เกิดบทสนทนา,การดำเนินเรื่องหรือการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Movement) ซึ่งในแง่นี้ Zizek เห็นว่า แมคกัฟฟิน ก็มีความเป็นวัตถุอันเป็นอื่น (objet-petit-a) อยู่เช่นกัน ในแง่ที่ว่ามันทำให้เกิดความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆในเชิงสัญลักษณ์ ขึ้น Zizek ถึงกับเอา WOMD (Weapons of Mass Destruction) มาเทียบว่าเป็น แมคกัฟฟิน ของสงครามอิรักเลยที่เดียว ตรงจุดนี้เราอาจเสนอได้ไหมว่าการที่มีการถกเถียงกันว่าแนวดนตรีนั้นคืออะไร เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ ที่พยายาม จะไขว่คว้า ถึงคำอธิบายอย่างสมบูรณ์ที่ไม่มีวันจะได้มา ของความเป็นแนวดนตรีหนึ่งๆ ซึ่งมันมีคุณสมบัติเหมือนวัตถุอันเป็นอื่น (objet-petit-a) ทั้งนี้เนื่องจากคำอธิบายนั้นอย่างถึงที่สุดแล้วไม่ได้ถูกเขียนไว้ในภาษา หากแต่ว่าอยู่ข้างนอก ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอยู่นอกภาษาแล้วพูดถึงไม่ได้โดยสิ้นเชิงไม่เช่นนั้นผู้เขียนก็คงจะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้เช่นกัน ตรงนี้เราคงต้องแยกกันก่อนระหว่างการเรียกชื่อมัน กับการพูดถึงมัน การเรียกชื่อมันเป็นสิ่งซึ่งทำได้อย่างเต็มที่เพราะเราก็แค่ตั้งว่าคำๆนี้หมายถึงอะไร การพูดถึงมันคือการถ่ายทอดความเป็นมันออกมาผ่านภาษา ซึ่งถ้าเราไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ มันก็จะเกิดสิ่งหลงเหลือ (Leftover) ที่เราพยายามเท่าใดก็หาภาษามาอธิบายมันไม่ได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นวัตถุอันเป็นอื่น (objet-petit-a) หรือ Real จึงมีสถานะเป็นป้ายชื่อที่เราแปะให้อะไรบางอย่างที่มันอยู่นอกเหนือภาษานั่นเอง
การที่เราพูดถึงสิ่งที่พูดถึงไม่ได้นั้นเป็นสิ่งที่ดูขัดแย้งอย่างน้อยก็ในระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) สถานะดังกล่าวนั้นเป็นสถานะของสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในเมื่อมันพูดถึงไม่ได้เราจะพูดถึงมันได้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันการที่เราสื่อมันออกมาได้ก็แสดงว่าเราพูดถึงมันได้ดังนั้นมันก็ไม่ใช่สิ่งที่พูดถึงไม่ได้อีกต่อไป ลักษณะที่ย้อนแย้งนี่ทำให้สถานะของ Real นั้นต่อต้านการทำให้เป็นสัญลักษณ์อย่างสุดขั้วเกินกว่าจะรวมเข้ามาอยู่ในระบบสัญลักษณ์ได้ ซึ่งตรงนี้ไม่แปลกเลยที่ Zizek นั้นพูดถึง Real ว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ (the impossible) ซึ่งนั้นคงเป็นความเป็นไปไม่ได้ในระบบสัญลักษณ์เท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ตกอยู่ในระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นเพียงความเป็นไปไม่ได้และความว่างเปล่า ราวกับว่าไม่มีอะไรอยู่นอกตัวบท (There is nothing outside the text) การพูดถึง Real จึงเป็นการอุปมาถึงอะไรที่อยู่ข้างนอกนั่น อะไรซึ่งเราไม่สามารถเข้าใจได้ในระบบสัญลักษณ์หรือกรอบของภาษาทั้งหลายทั้งมวลเพราะกรอบของภาษานั้นไม่อนุญาติให้เราเข้าใจมัน หรือ มันเป็นสิ่งซึ่งถูกกันออกไปจากภาษาซึ่งทำให้ภาษานั้นเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งที่ถูกกันออกไปจากระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ดังกล่าวนั้นก็จะกลับไปสู่ Real (What is excluded from the symbolic will return to the Real) ซึ่งแท้จริงแล้ว Real นั้นมีอยู่ก่อนระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งหลงเหลือที่เกิดจากการล้มเหลวของระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ซึ่งเป็นความพยายามที่ล้มเหลวจะนำสรรพสิ่งมาอยู่ใต้ระเบียบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือภาษา เพราะมนุษย์นั้นเข้าใจสรรพสิ่งผ่านภาษา ดังนั้นการล้มเหลวและมีรูโหว่ของภาษานั้นเปิดช่องให้ Real นั้นมาหลอกหลอนเรา ซึ่งสิ่งซึ่งจะป้องกันเราจากการปะทะกับ Real โดยตรงคือ แฟนตาซี (Fantasy) ของ ระเบียบแห่งจินตภาพ (Imaginary Order) ซึ่งสภาวะของจินตภาพดังกล่าวก็เกิดจากการที่มนุษย์นั้นไม่สามารถเข้าใจสรรพสิ่งต่างๆ “ทั้งหมด” อย่างมีเอกภาพได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือราคาที่มนุษย์ต้องจ่ายในการใช้ภาษา
5. ในที่สุด
หลังจากที่มีการโต้เถียงกันเป็นเวลานาน ในที่สุดนิยามของความเป็น เมทัลคอร์ (Metalcore) ก็มาตกอยู่ตรง ที่ว่ามันเป็นส่วนผสมของ เฮฟวี่เมทัล กับ ฮาร์ดคอร์ ซึ่งมันเป็นสิ่งซึ่งระบุลงไปอย่างชัดเจนได้ยาก เพราะสิ่งที่บรรดาวงเมทัลคอร์นั้นได้ทำคือการผสมอิทธิพลของซาวน์และทัศนคติแบบฮาร์ดคอร์ เข้าไปกับดนตรีเมทัลแทบทุกชนิดที่จะจินตนาการออกมาได้
นี่ก็คงจะเป็นนิยามที่ทำให้บรรดานักจัดประเภทพอใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะมันคลุมเครือสุดๆ และทำให้แทบทุกวงซึ่งมีซาวน์หนักๆยุ่งๆ หน่อยนั้น ถูกอ้างว่าเป็น เมทัลคอร์ได้เกือบหมด ถ้าเกิดความเป็นเมทัลคอร์นั้นอยู่ที่ริฟแบบฮาร์ดคอร์ และแบบเมทัลในวงๆเดียว วงบรูทัลเดธจากนิวยอร์คบางวงนั้นก็คงเป็น เมทัลคอร์ พอๆ กับวงบ้านเดียวกันอีกหลายวง ซึ่งแน่นอนนี่เป็นปัญหาที่ชัดเจนในสายตา (gaze) ของบรรดาคนที่ฟังหรือระบุ (identify) ตนเองกับเพลงบรูทัลเดธ เพราะอัตลักษณ์ (Identity) ของตนนั้นถูกสั่นคลอน ซึ่งก็อาจมีเหตุอื่นได้อีก ดังนั้นคนเหล่านี้จึงออกมาบอกว่า วงพวกนั้นเป็นวง”เมทัล”ที่มีริฟแบบฮาร์ดคอร์ปะปนอยู่ในเพลง แต่ในสายตาของพวกฮาร์ดคอร์แล้ววงพวกนั้นอาจเป็น เมทัลคอร์ (สังเกตได้ว่าพวกเมทัลไม่นับญาติเมทัลคอร์ อาจเป็นเพราะรากฐานจากอดีตการที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงในหลายๆส่วน) หรือ อาจเป็นวงฮาร์ดคอร์ที่มีริฟแบบเมทัลมาบนด้วยซ้ำไป ซึ่งแน่นอนถ้ามันมีความเป็นเมทัลเกินไป (ซึ่งเท่าไรถึงจะเกินก็ไม่รู้) และเป็นฮาร์ดคอร์น้อยเกินไป (แน่นอนในสายตาของพวกฮาร์ดคอร์) วงดังกล่าวก็อาจไม่ถูกนับญาติจากพวกฮาร์ดคอร์ได้
นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง ซึ่งจะนำไปประยุกต์ได้ในหลายกรณี ซึ่งกรณีนี้โดยคร่าวๆก็ คือการปะทะกันของคนใน ของฝ่าย ฮาร์ดคอร์กับเมทัล ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนละกลุ่มกัน ดังนั้นความเป็นเราความเป็นเขาจึงเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างภาพอันไร้มิติซ้ำซากของเขา ซึ่งต่างจากเรานั้น เป็นสิ่งที่ง่ายที่เราจะสร้างความเป็นเราขึ้นมา แต่เมื่ออัตลักษณ์ของเขาเริ่มซับซ้อน จนมาเหลื่อมล้ำกับอัตลักษณ์ของเรา เราจึงต้องการจำกัดอัตลักษณ์เขา ซึ่งทั้งหมดนี่ก็คือมุมมองของเรา การปะทะกันของ”เรา”ที่มากกว่าหนึ่งทำให้ เขาเป็น ”เขา” สำหรับเรา ส่วนเรานั้นก็เป็น “เขา” สำหรับเขา การมีความหมายในตัวตนโดยกันความหมายอื่นๆออกไป นั้นง่าย แต่การมีความหมายในตนเองนั้นยาก กล่าวคือเรารู้ว่าเขาเป็นอย่างไรแล้วเราไม่ใช่นั้นง่าย แต่ถ้าจะให้บอกว่าเราเป็นอย่างไรนั้นยาก การที่เราบอกว่าเราเป็นเมทัลไม่ใช่ฮาร์ดคอร์นะนั้นง่าย แต่การที่เราจะบอกว่าเราคืออะไรเมทัลคืออะไร คนที่ระบุตนกับความเป็นเมทัลก็คงได้ทะเลอะกันเองเพราะมันไม่มีคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจน จะมาจบก็ตรงที่นิยามซึ่งคลุมเครือสิ้นดีที่เราอาจจะจับเอาวงที่ไม่ใช่เมทัล (แน่นอนในสายตาของพวกเมทัล) มาใส่ในหมวดตามนิยามก็ได้ (ซึ่งถ้านิยามนั้นเฉพาะไปวงเมทัลบางวงอาจหลุดไปนอกนิยามก็ได้) ปัญหาดังกล่าวมันก็วนไปมา ซึ่งนี่อาจเป็นความขัดแย้งขั้นมูลฐาน (fundamental antagonism) ที่มาพร้อมกับการพยายามนิยามแนวดนตรีก็ได้ อย่างไรก็ตามแต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับของพวกนี้เลย ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงแค่ร็อคหนักๆเหมือนๆกันก็ได้ ดังนั้นจุดที่เป็นปัญหาก็คงเป็นจุดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ทั้งคนในและคนใกล้เคียง) เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนก็สนใจจริงๆ ว่าในสิ่งที่ถูกเรียกว่า ”ศิลปะ” แขนงอื่นๆนั้นจะมีปัญหาเช่นนี้บ้างไหม

0 Comments:

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast