Tuesday, November 22, 2005

งานอันสับสนเกี่ยวกับ Metalcore ที่เกินจะเยียวยา

Metalcore ประเภทดนตรีที่มีปัญหา?

การจัดประเภทดนตรีว่าอะไรอยู่ในหมวดไหนคงจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ใด้แม้ว่าหลายๆคนจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง (ซึ่งต้นตอและผู้ผลิตซ้ำการจัดประเภทก็คงจะเป็น ร้านเทป และ นักวิจารณ์ เป็นอย่างน้อย) ทว่าในขณะที่หลายวงมากมายดูจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรามันก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะที่จะตั้งชื่อแนวอย่างเฉพาะเจาะจงขึ้นมาเรียกแนวดนตรีวงทุกวง (แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงก็คงจะมีคนตั้งชื่อแนวดนตรีเฉพาะให้ อัลบั้มแต่ละอัลบั้ม ต่อไปก็ชื่อแนวเฉพาะสำหรับ เพลงในอัลบั้มแต่ละเพลง ต่อไปก็ชื่อแนวเฉพาะสำหรับ ท่อนในเพลงแต่ละท่อน เรื่อยไป) สืบเนื่องจากแรงสองแรงดังกล่าวแล้วเราคงต้องมีรากฐานบางอย่างในการจัดประเภทดนตรี ซึ่งเราคงจำต้องมองข้ามความต่างอะไรบางอย่าง และเลือกความเหมือนอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะจัดงานดนตรีหลายๆชุดใว้ไต้ร่มเงาของรูปสัญญะเดียวกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วคือเรียกงานดนตรีเหล่านั้นเหมือนๆกัน
การมองเรื่องความเหมือนความต่างนั้น เป็นสิ่งที่สัมพัทธ์กับจุดที่ผู้มองดำรงอยู่ กล่าวคือ การจ้องมอง (gaze) จากแต่ละที่ในระบบสัญลักษณ์ (symbolic order) นั้นจะทำให้เกิดมุมมองที่ต่างๆกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณระบุ (identify) ตัวเองกับสิ่งใด ถ้าคุณระบุว่าคุณเป็นคนชั้นกลาง คุณก็จะเห็นความต่างในชนชั้นสูง หรือ ชนชั้นล่าง ถ้าคุณระบุว่าคุณเป็นคนเอเชีย คุณก็จะเห็นความต่างในฝรั่ง หรือ คนเชื้อสายแอฟริกัน ถ้าคุณระบุว่าคุณเป็นมนุษย์โลก คุณก็จะเห็นความต่างในมนุษย์ต่างดาว เป็นต้น
เช่นเดียวกันในทางดนตรี ถ้าคุณระบุว่านี่คือเพลงร็อค คุณก็จะเห็นความต่างในเพลงคลาสสิค, แร็ป, บลูส์, แจซซ์, แดนซ์ ฯลฯ ถ้าคุณระบุว่านี่คือ เมทัล คุณก็จะเห็นความแตกต่างใน ฮาร์ดร็อค, เซาท์เทิร์นร็อค, บริตป็อป, พังค์ร็อค, ฮาร์ดคอร์ (ขอย้ำว่าผู้เขียนใช้คำนี้ในความหมายของวงที่สืบจารีตกบฏมาจากพวกพังค์ซึ่งวงที่ชัดเจนที่สุดและเป็นจุดอ้างอิงคือ Black Flag ผู้เขียนไม่ได้ใช้คำนี้หมายถึง วงอย่าง Korn, Limp Bizkit, Slipknot, Linkin Park ฯลฯ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันก่อนที่คำว่า นิวเมทัล จะถูกนำเข้ามาใช้เรียกวงเหล่านี้) ฯลฯ ที่ใช้กีตาร์เสียงแตก ถ้าคุณระบุว่านี่คือ เดธเมทัล คุณก็จะเห็นความแตกต่างใน โกธิคเมทัล, ดูมเมทัล, แทรช/สปีดเมทัล, สโตเนอร์เมทัล, เฮฟวีเมทัล, ไกรนด์คอร์, แบล็คเมทัล ฯลฯ ถ้าคุณระบุลงไปอีกว่านี่คือ บรูทัลเดธเมทัลจากนิวยอร์ค คุณก็จะเห็นว่ามันแตกต่างจาก ซาตานิคเดธเมทัลจากฟลอริดา, เมโลดิกเดธเมทัลจากสวีเดน หรือ เดธเมทัลจากอังกฤษที่เคยเล่นไกรนด์คอร์มาก่อน
ที่กล่าวมาข้างต้นมันเป็นสถานการณ์อังพึงประสงค์ในการจัดประเภท กล่าวคือแนวแต่ละแนวดูจะมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นมิได้เป็นเช่นนั้น (หรือมันอาจไม่เคยเป็นเช่นนั้นเอย่างแท้จริงเลย) เพราะปรากฏว่า มีวงดนตรีหลายๆวง ซึ่งไม่ได้เล่นตามแนวดนตรีที่มีการจัดตั้งอย่างชัดเจนอย่างเพียวๆ กล่าวคือมีการผสมผสานแนวต่างๆ ไว้ด้วยกัน และยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจง
ซึ่งปรากฏการณ์นี้เพื่อนของผู้เขียนผู้หนึ่งซึ่งเป็นนักดนตรีกล่าวว่าเป็นลักษณะของภาวะหลังสมัยใหม่ (Postmodernity) ซึ่งเส้นแบ่งต่างๆของภาวะสมัยใหม่นั้นได้พร่าเลือนไป ข้าพเจ้าสังเกตท่าทีของเขาเสมือนว่าเขากำลังพูดถึงอะไรใหม่ แต่ข้าพเจ้าว่าการหยิบยืมกันของดนตรีเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกบางคนก็หยิบยืมเพลงพื้นบ้านของต่างประเทศมาใส่ในงานของตน, บูลส์ กับ แจซซ์ ก็ทำการหยิบยืมดนตรีแอฟริกันมา, ร็อคแอนด์โรล ก็หยิบยืม บูลส์มา วงในศตวรรษที่20 หลายๆวงก็เอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านแปลกๆมาใส่ในเพลง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าหลังจากการหยิบยืมดนตรีแขนงอื่นๆมาแล้วจะสามารถสถาปนาตนเป็นแนวใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งสภาวะอันไม่ชัดเจนดังกล่าวมิจำเป็นต้องใช้ความคิดเรื่องสภาวะหลังสมัยใหม่มาอธิบายเพราะมันรังแต่จะสร้างความสับสนยิ่งขึ้นให้กับสิ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายสิบปีอย่างสภาวะหลังสมัยใหม่
เมทัลคอร์ (Metalcore) ดูจะเป็นแนวที่ผุดขึ้นมาใหม่หลังสหัสวรรษที่สอง ทั้งที่บางวงที่ถูกเรียกเช่นนั้นก็เล่นมาสิบกว่าปีแล้ว เป็นที่คาดว่า เมทัลคอร์ มาจาก เมทัล รวม เข้ากับ ฮาร์ดคอร์ (ย้ำ! ไม่ใช่นิวเมทัล ย้ำ!) ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในยุค 80’s ด้วยวงอย่าง Stromtroopers of Death (S.O.D.) หรือ วง D.R.I. ที่บางทีก็ถูกจัดเป็นพวกเบย์แอเรียแทรชเมทัลด้วย สองวงนี้เป็นเพียงตัวอย่างของแนวดนตรีที่ถูกเรียกว่า ครอสโอเวอร์ (Crossover) ซึ่งเอาไว้ใช้เรียกวงที่ผนวกดนตรีฮาร์ดคอร์กับแทรชเมทัลไว้ด้วยกัน ซึ่งในตัวเพลงพวกนี้ก็มักจะมีท่อนริฟ (Riff) อุดสายที่ฟังดูแล้วชวนโยกหัวแบบแทรชเมทัล และ ท่อนริฟแบบฮาร์ดคอร์ซึ่งพังแล้วชวนเล่นมอช (Mosh) [ซึ่งถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิดมักคือการกระโดดแท็คกันเป็นวงกลมที่เห็นได้ตามคอนเสิร์ตเมทัลหรือฮาร์ดคอร์ ซึ่งจริงๆแล้วพิธีกรรมกล่าวรู้สึกว่าจะมีต้นตอมาจากคอนเสิร์ตพวกพังค์] ในแง่หนึ่งแล้วผู้เขียนคิดว่าเราอาจอธิบายวงพวกนี้ว่าเป็นวงฮาร์ดคอร์ที่เอาริฟแบบแทรชเมทัลมาใส่ในเพลง
มาถึงปี 2000 (ซึ่งผู้เขียนจำต้องข้ามเรื่องของดนตรีกรันจ์ ที่ถูกทำให้ดังเป็นพลุแตกโดยรูปเคารพแห่งดนตรีร็อคยุค 90’s อย่าง Kurt Cobain หรือ การขึ้นครองอำนาจและการร่วงโรยในตอนปลาย 90’s ของพวกนิวเมทัลอย่าง Korn Limp Bizkit, Slipknot, Linkin Park เนื่องจากเนื้อหาในส่วนนี้ค่อนข้างยาว ซึ่งนี่ยังไม่รวมพวก Extreme Music อย่างพวกเดธเมทัล, แทรชเมทัล, ไกรนด์คอร์) เราก็จะได้ยินชื่อวงอย่าง Lamb of God, Shadows Fall, Killswitch Engage ว่าเป็น Metalcore (ผู้เขียนพยายามเลือกวงที่ไม่ค่อยมีข้อถกเถียงแล้ว) ซึ่งตอนผู้เขียนได้ยินวงพวกนี้ครั้งแรก แล้วถามเพื่อนว่า “ไอ้วงพวกนี้นักวิจารณ์เรียกว่าอะไร” มันก็บอกว่า “เมทัลคอร์ว่ะ” ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกตะหงิดๆ เพราะผู้เขียนเรียกวงรุ่นก่อนๆ ของ Victory Records อย่าง Earth Crisis, All Out War, Hatebreed ว่า เมทัลคอร์เหมือนกัน ซึ่งถ้าเคยพังทั้งสามวงนี้ตอนอยู่กับ Victory ก็จะรู้ว่าดนตรีมันไม่เหมือนกันเท่าไร โดยเฉพาะ Earth Crisis ซึ่งฟังเพลงดูแล้วไม่อยากจะเชื่อเลยว่าพวกนี้เป็นพวก Straight Edge ที่กินแต่ผักรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ในเนื้อเพลงและปก ซึ่งวิถีชีวิตในแบบนี้ได้ถูกบุกเบิกโดยวงฮาร์ดคอร์ยุคบุกเบิกจากวอชิงตันอย่าง Minor Threat ที่เคียงบ่าเคียงไหล่มากับวงอย่าง Black Flag และ Bad Brains
อะไรคือเมทัลคอร์? ผมไม่รู้ว่านี่จะเป็นคำถามที่จะมีใครตอบได้โดยไม่มีใครเถียงหรือเปล่า เพราะขนาดแนวที่ค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้วอย่าง เดธเมทัล บางทียังมีปัญหาเมื่อจำเป็นต้องบอกว่ามันคืออะไรเลย ซึ่งตรงนี้ เราต้องแยกกันให้ชัดก่อนสำหรับการบอก ว่า วงอะไร อัลบั้มอะไร เพลงอะไร ท่อนอะไร คือแนวอะไร กับคำถามที่ว่า แนวดังกล่าวคืออะไร เพราะการบอกว่าอะไรคือแนวอะไรนั้นเปรียบเสมือนการปะป้าย การนำรูปสัญญะเดียวกันไปใช้กับหลายๆสิ่ง แต่การอธิบายว่าแนวนั้นคืออะไร นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับดนตรี ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นเสียง ความเป็นไปได้ที่อธิบายเสียงเหล่านั้นด้วยภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วไปโดยตัวมันเองเป็นสิ่งซึ่งจำเป็นกับคำถามดังกล่าว ภาษาจะมีความสามารถที่จะเป็นภาพตัวแทน (Representation) ของดนตรีได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่? ถ้ามันเป็นเป็นไปได้เราก็คงเขียนอัลบั้มมาเป็นหนังสือใด้และอ่านมันแทนฟังมันงั้นหรือ? ถ้ามันเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง คำถามดังกล่าวก็คงไม่มีคำตอบ หรืออย่างน้อยก็คงไม่รู้จะตอบอย่างไร อย่างน้อยก็ในภาษา เพราะคำตอบนั้นไม่ได้อยู่ในภาษา ที่จะทำได้คือพยายามที่จะเข้าใกล้แต่ก็ไม่มีวันจะเข้าถึง ในแง่นี้คำตอบดังกล่าวจึงอาจอยู่นอกระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) และอยู่ใน Real ในภาษาแบบ Lacanian ซึ่งคุณสมบัติของ Real ก็คือมันจะต่อต้านการทำให้เป็นสัญลักษณ์หรือภาษา (Resist Symbolization) กล่าวคือเราพูดถึงมันไม่ได้ ดังนั้นการพูดถึง Real จึงเป็นดั่งการอุปมาถึงสิ่งซึ่งพูดถึงไม่ได้นั่นเอง
เราไม่อาจใช้ภาษาโดยตัวของมันเองแทนดนตรีได้หรือ? ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะเราก็ยังเห็นคนพูดและบรรยายถึงดนตรีกันอยู่ และ การก็ยังมีการบอกว่าไม่รู้จะบรรยายยังไงให้ไปฟังเอง ซึ่งนี่ก็อาจคือกรณีเฉพาะไม่ได้พูดถึงแนวโดยรวมๆ (แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับดนตรีบางประเภทก็คงไม่รู้จะบรรยายยังไงให้ท่านเข้าใจได้จริงเนื่องจากท่านไม่ได้บริโภคเสียงบางประเภทมาเสริมจินตนาการท่านก่อน) แล้วอะไรคือแนวใดแนวหนึ่ง มันจะอยู่ในโลกของแบบอย่างที่เพลโตว่าไหม มันมีเฮฟวี่เมทัลอยู่ในโลกของแบบ ซึ่งเราได้รับรู้มันก่อนเราจะร่วงหล่นลงมาบนโลกหรือ? ข้าพเจ้าว่านั่นไม่ค่อยอธิบายเท่าไร สิ่งที่เห็นได้บ่อยๆ ในการแบ่งแนวเพลง คือ การอ้างอิงเพลงของวงดังกล่าวที่ก็ลังจะบอกว่าเป็นแนวอะไร กับวงอะไรก็ตามที่เป็นจุดอ้างอิงของแนวนั้นๆ ดังอย่างเช่น บอกว่าวงนี้เป็นเมทัลเพราะมีกลิ่นดนตรีเหมือน Black Sabbath หรือ มีริฟคล้าย Judas Priest เพลงนี้ในท่อนนี้ เป็นต้น วิธีการดังกล่าวเปรียบดั่งการใส่เชิงอรรถลงในเพลง ซึ่งก็สนับสนุนแนวคิดว่าดนตรีมีการอ้างอิงกันอยู่ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวอ้างอิงก็คงไม่ใช่แบบของเพลโต เพราะ ไม่งั้นเฮฟวี่เมทัลก็ควรจะจบลงไปตั้งแต่ Black Sabbath แล้วเพราะมันคือรูปแบบอันพึงประสงค์ที่สุดของเมทัล วงที่ตามมาได้แต่เข้าใกล้แต่ไม่มีวันเข้าถึง จึงรังแต่จะสร้างความเสื่อมให้กับเฮฟวี่เมทัลงั้นหรือ? คงไม่ ถ้าเช่นนั้น มันจะมีแบบของแนวหนึ่งๆอยู่ไหม บางคนอาจบอกว่ามี แต่นั่นก็คงไม่ใช่สิ่งที่วงไหนเป็นอยู่เลย ไม่เช่นนั้นมันก็คงเป็นอย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวข้างต้น ถ้าหลุดจากกรอบของแบบแล้วแนวดนตรีก็อาจไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกจากการอ้างอิงกันเอง ซึ่งสิ่งที่มาก่อนก็อาจยึดจุดอ้างอิงได้ แต่ก็ไม่ได้ผูกขาดว่าเป็นสิ่งใน “แบบ” นั้นที่ดีที่สุดเยี่ยงแบบของเพลโต วงรุ่นหลังก็อาจจะเป็นวงในแนวนั้นที่ดีกว่าวงในแนวนั้นที่ดีกว่าวงรุ่นพี่ ซึ่งนี่ก็อาจแสดงให้เห็นถึงความลื่นไหลของในการนิยามแนวได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่การใช้ภาษาเพื่อแสดงให้เห็นการอ้างอิงระหว่างเสียงกับเสียงหาใช่การอธิบายเสียงด้วยภาษาโดยตัวมันเอง กล่าวคือยังไม่ใช่การแทน (Represent) ดนตรีด้วยภาษาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็คือการแสดงภาพตัวแทนของดนตรีผ่านภาษาอย่างสมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งในแง่นี้แล้วชื่อแนวดนตรีจะเป็นอะไร หรือจะเป็นป้ายชื่อที่ไม่สามารถอธิบายคุณลักษณะได้ด้วยภาษาพูดโดยสิ้นเชิง? ผิดถนัด มันคือผลผลิตของภาษาล้วนๆ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับดนตรีเลย ดังนั้น นอกจากการใช้ภาษาอ้างอิงเสียงกับเสียงแล้ว ภาษายังผลิตคำอธิบายดนตรีออกมาซึ่งคำอธิบายนี้มันมักจะไม่มีหน้า กล่าวคือ มันไม่ได้พูดถึงใครอย่างชัดเจน มันพูดถึงรูปแบบซ้ำๆซากๆที่เกิดขึ้น มากกว่า ถ้าเราจะเอาคำอธิบายของแนวมาเป็นแบบอย่างเพลโต สิ่งที่เราจะได้คงเป็นแบบที่จืดชืดที่สุด เพราะการที่วงเล่นตามคำอธิบายแนวทุกอย่างคงเป็นวงที่มีเป็นหลายๆโหล(ซึ่งจริงๆมากกว่านั้น) ของแนวนั้น ซึ่งอาจเป็นวงเกรดบีแบบปลายๆ หรือต่ำกว่านั้นของ แนวๆหนึ่ง ในแง่นี้คำอธิบายแนวนั้นคงมีไว้สำหรับ วงที่เล่นตามสูตรซ้ำๆซากเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับวงแถวหน้า ที่ไม่ได้เล่นตามสูตรเป๊ะก็เลยดัง แต่ที่เราเห็นกันก็คือ วงดังๆเหล่านั้นเป็นวงที่คนพูดถึงมากที่สุด ดังนั้นคงจึงพยายามเรียกมันด้วยอะไรบางอย่าง นี่กระมังที่ทำให้เกิดปัญหาระหว่าง คำอธิบายแนวซึ่งใช้กับวงที่เล่นตามสูตรได้อย่างที่มันหมายได้มากที่สุด กับวงที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นแนวนั้นทั้งๆที่ไม่เล่นตามสูตร ซึ่งเมื่อไปอ้างกับวงพวกนั้นแล้วเราก็อาจพบว่าสูตรนั้นใช้ไม้ได้ และต้องขยายสูตรและสร้างความสับสนว่าแนวนี้คืออะไรในที่สุด
ตัวอย่างการอธิบายสูตรของแนวดนตรีก็เช่นริฟแบบปั่นกระฉูด, การรัวกระเดื่องคู่และ สแนร์ (Blast Beats) หรือ เสียงสำรอก แบบนั้นเป็นเอกลักษณ์ของเดธเมทัล แต่ก็มีวงหลายๆวง ที่ไม่ได้มีครบสูตร อย่างนั้นแต่ก็ถูกจัดเป็นเดธเมทัล (ในขณะเดียวกันก็มีวงแนวอื่นๆ ที่มีบางส่วนของส่วนประกอบข้างต้น แต่ก็ไม่ใด้ถูกจัดว่าเป็นเดธเมทัล) บางคนก็ให้การใช้เสียงสำรอกเป็นตัวแทนของเดธเมทัล ถ้าอย่างนั้นวงที่ทำดนตรีเป็น ป็อปสุดเลี่ยน แต่ดันมีเสียงร้องแบบสำรอก ไม่พลอยเป็นเดธเมทัลไปด้วยรึ ซึ่งตามหลักการดังกล่าวก็คงได้ แต่การจัดประเภทดังกล่าวก็คงไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่แฟนเพลงเดธทั่วไปแน่นอน แม้กระทั่งคนที่นิยามเดธด้วยเสียงสำรอกแต่ไม่คำนึงถึงจุดนี้ การนิยามเดธด้วยเสียงสำรอกยังต้องประสบปัญหาเช่นการที่เสียงร้องของ John Tardy แห่งวงเดธเมทัล ยุคบุกเบิกอย่าง Obituary ดันไปละม้ายคล้ายวงนิวเมทัลบางวง ด้วยการที่มีการออกเสียงในแบบเดียวกันหรือไม่ก็มิอาจทราบได้ และวงเดธเมทัลบางวงก็ดันเปลี่ยนนักร้องซึ่งก็ดันร้องกระเดียดไปทางเสียงตะโกนแบบฮาร์ดคอร์เสียอีก แต่ก็เข้ากับดนตรีของวงได้ นี่ขนาดเป็นแนวเดธเมทัลที่มี่แนวโน้มของแนวทั่วไปเป็นเส้นตรง กล่าวคือ การพัฒนาของแนวโดยทั่วไปก็คือไม่ โหดขึ้น หนักขึ้น ก็ต้องเร็วขึ้น ซึ่งเดธเมทัลก็แทบจะเป็นที่สุดของทุกอย่างอยู่แล้ว หนทางที่เป็นเส้นตรงดังกล่าวก็คงจะไปมีสิ่งแปลกปลอมได้ยาก ซึ่งก็แน่นอนว่าพวก เมโลดิคเดธเมทัล หรือ พวก เทคนิคัลเดธเมทัล นั้นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งก็อาจแสดงให้เห็นอีกครั้งกับคำถามว่า สรุปว่าเดธเมทัลมันคืออะไรกัน
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่าง เล็กๆน้อยๆ ที่ให้เห็นถึงปัญหาในการใช้วิธีการดังกล่าวในการจัดประเภท (ซึ่งยังไม่รวมการจัดประเภทด้วยเนื้อหาซึ่งจะมีข้อโต้แย้งมากมายเพราะไม่ใช่วงที่ถูกจัดเป็นเดธเมทัลทุกวงจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับซาตาน, ความตายและซากศพไปหมด ขนาดวงยุคบุกเบิกอย่าง Death ของท่าน Chuck Schuldiner ผู้ล่วงลับยังมีเนื้อหาไปทางปรัชญา และก็มีแซมการเมืองด้วยเลย) ซึ่งจะแสดงให้แห็นว่าการที่เราจะบอกว่าดนตรีแนวหนึ่งคืออะไรนั้นยากที่จะไร้ข้อโต้เถียง ดังนั้นคำถามที่ว่าแนวดนตรีหนึ่งๆคืออะไรนั้นคงเป็นคำถามที่ดูราวกับจะมีคำตอบนั่นเอง เนื่องด้วยเราเริ่มจากการปะป้ายก่อนแล้วจึงพยายามอธิบายตรรกะในการปะป้ายนั้น แต่ก็จบด้วยการไม่สามารถจะอธิบายได้ เนื่องจากตรรกะดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของการรู้สึกในการจัดประเภทซึ่งไม่ใช่เรื่องของการอธิบายด้วยภาษาตั้งแต่ต้น (ไม่เช่นนั้นวงในแนวหนึ่งคงแทบจะเหมือนกันหมด เนื่องจากมาตรฐานทื่อๆในการจัดประเภทของภาษาซึ่งไม่มีหน้า) ซึ่งวงส่วนใหญ่ที่เล่นไปตามสูตรของแนวดนตรีดังกล่าวก็คงจะไม่ได้สร้างปัญหาในการจัดประเภทนัก (แต่วงที่ฉีกมานิดแต่ยังอยู่ในแนวจะสร้างปัญหาว่าสรุปแนวนั้นคืออะไร) แต่วงดนตรีที่แตกแถว ไม่สามารถจัดประเภทได้ง่ายต่างหากกลับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีดนตรีใหม่ๆ มาให้ฟังเรื่อย (และวงเหล่านี้ยังทำให้ผู้คนยกคำถามที่ราวกับจะมีคำตอบอย่าง “สรุปว่าแนวนี้คืออะไร” มาด้วย) ดังนั้นการจัดประเภทไม่ได้จึงเป็นสภาวะซึ่งพึงประสงค์เป็นอาการที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าดนตรียังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามแต่เมื่อเราต้องพูดถึงอะไรบางอย่างซึ่งยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นภาษา (Non-symbolize) เราก็จำเป็นต้องตั้งชื่อ (Symbolize) ให้กับมันซึ่งนั่นก็คงเป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์ ภายใต้ตรรกะของการแบ่งงานกันทำ ซึ่งปัจจุบันนี้เมทัลคอร์ ก็เป็นประเภทดนตรีที่ถูกตั้งขึ้นมาอย่างหลวมๆ ไว้ใช้เรียกวงที่ จะฮาร์ดคอร์เพียวๆ ก็ไม่ใช่ จะเมทัลเพียวๆก็ดันมีกลิ่นฮาร์ดคอร์อยู่ เข้าทำนอง นกมีหูหนูมีปีก เสียงร้องของวงพวกนี้บางคนอาจว่าคล้ายนิวเมทัล แต่ผู้เขียนคิดว่าพวกนิวเมทัลบางวงเอาการตะโกนมาจากพวกฮาร์ดคอร์ และเอาการสำรอกมาจากพวกเดธ ผสมๆกัน แต่พูดก็พูดตรงๆ ว่าตอนแรกผู้เขียนฟังวงพวกนี้ผ่านๆ แล้วก็จัดว่าพวกนี้เป็นนิวเมทัล เพราะเสียงร้องและจังหวะกระตุกๆ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่นิวเมทัล แต่พอฟังดีๆแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นนิวเมทัลที่ดนตรีแปลกๆ คือว่าดูจะหนักกว่านิวเมทัลทั่วๆไป ดูไปดูมาสิ่งที่ดูจะเหมือนกันก็เหลือเพียงแต่เสียงร้องกับจังหวะกระตุกๆ เท่านั้น อย่างอื่นจะดูไม่ค่อยเหมือนไอ้เอฟเฟคเสียงจิ้วๆ ก็ไม่ค่อยมี ในจุดนี้ผู้เขียนขอออกตัวว่าไม่ได้มีความเห็นว่าเมทัลคอร์นั้นเป็นแนวแตกออกจากนิวเมทัล แต่ก็อดเอาไปเทียบไม่ได้เพราะทั้งสองแนวนั้นเกิดมาร่วมสมัยกันและได้อัดเสียงด้วยเทคโนโลยีบันทึกเสียงในสมัยเดียวกัน ซาวน์ที่ออกมาจึงคล้ายคลึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ต่างกันเท่าที่สังเกตได้จากสามวงหลัก (Killswitch Engage, Shadows Fall, Lamb of God) คือดนตรีซึ่งหนักแน่นอย่างต่อเนื่องทั้งเพลง ไม่มีท่อนเบาอย่างเป็นกิจลักษณะอย่างที่พวกนิวเมทัลหลายวงนิยมทำกัน และที่สำคัญคือมีท่อนโซโลกีตาร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้างราจากเมทัลกระแสหลักไปหลายปี (ถ้าจะนับนิวเมทัลเป็นเมทัลด้วย) กรณีของ Shadows Fall นั้นเป็นวงหน้าใหม่ที่มาแรงมากและค่อนข้างจะเป็นที่ยอมรับวงการเมทัล ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยสังกัดที่ตนอยู่คือ Century Media ซึ่งมีสินค้าหลักคือเมทัล หรือ ดนตรีที่ไม่มีกลองกระตุกๆ ที่อาจทำให้คนเมทัลหัวอนุรักษ์รู้สึกทะแม่งๆ หรือท่อนโซโล่กีตาร์คู่ที่หาได้ยากในแวดวง “นกมีหูหนูมีปีก” ทั้งหลาย
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนจะไม่ขอลงไปในขั้นที่จะบอกว่า เมทัลคอร์คืออะไร เพราะพูดฟันธงไปก็รังแต่จะก่อให้เกิดข้อถกเถียง ส่วนที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็เป็นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ เป็นดนตรีที่มีส่วนผสมกันของ ฮาร์ดคอร์ กับ เมทัล ซึ่งในแง่นี้ จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งฮาร์ดคอร์ออกจากเมทัลอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองแนวนี้ มีจุดกำเนิดที่ต่างกันอยู่แล้ว แต่ในเมทัลบางแนวก็อาจมีสิ่งซึ่งรากฐานของฮาร์ดคอร์อย่างพังค์ปนอยู่ และถ้าจะสาวลงไปลึกๆแล้วทั้งคู่ก็เกิดขึ้นจากดนตรีร็อคเหมือนกัน และมีการกบฎต่อกระแสหลักเหมือนกันแต่ต่างกันในรายละเอียด ดังนั้นการรวมกันอีกครั้งของเมทัล กับ ฮาร์ดคอร์ จึงเสมือนการกลับมารวมตัวกันของกบฎดนตรีซึ่งห่างเหินกันไปนานซึ่ง ดูเหมือนจะคิดถึงกันดีอยู่ แต่ในอีกแง่หนึ่งแล้วฮาร์ดคอร์นั้นมีรากฐานของวิธีคิดแบบพังค์อยู่อย่างเหนียวแน่น ถ้าดูกันดีๆ วิธีคิดที่น่าจะมีปัญหากับเมทัลที่สุด คือวิธีคิดแบบใครๆ ก็เล่นได้แบบพวกพังค์ ซึ่งจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างวงดนตรีกับแฟนเพลง กล่าวคือลดความวิเศษวิโสของเหล่านักดนตรีที่เป็นฮีโร่ทั้งหลาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเรื่องใครๆก็ทำใด้ก็คือ การที่หนังสือ แฟนซีนของพวกพังค์อังกฤษในยุคต้นๆ นาม Sniffin’ Glue ได้นำรูปคอร์ดกีต้าร์สามคอร์ดมาตีพิมพ์ในหนังสือแล้วเขียนว่า “นี่คือคอร์ดนะ, นี่ก็อีกคอร์ด, นี่คือคอร์ดที่สาม เอ้า! ไปตั้งวงกันได้แล้ว!”
ก็อาจเป็นที่โต้แย้งได้ว่าดนตรีฮาร์ดคอร์นั้นมิได้มีวิธีคิดอย่างเก่าก่อนแล้ว ที่เป็นอยู่มีเหลือแต่ตัวดนตรีแบบเดิมวิธิคิดแบบเดิมไม่หลงเหลือแล้ว (วิธีคิดในเรื่องดนตรีและไลฟ์สไตล์ของพวกฮาร์ดคอร์น่าสนใจมากถ้ามีโอกาสผู้เขียนคงมีโอกาสเขียนถึง) ซึ่งก็อาจจะจริงถ้าวงเมทัลคอร์เหล่านี้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่แล้วไม่มีใครด่า ก็คงเพราะไม่มีใครเห็นว่าบรรดาวงนกมีหูหนีมีปีกเหล่านี้วงเหล่านี้ยังมีความเป็นฮาร์ดคอร์แบบเดิมๆอยู่ ซึ่งสำหรับฮาร์ดคอร์แบบดั้งเดิมวิถีแบบ DIY (Do-It-Yourself) ที่จำต้องทำและขายผลงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการสนับสนุนจากค่ายใหญ่ เพื่อจะได้ไม่ต้องขายตัว (Selling Out) ให้กับค่ายใหญ่ในเวลาเดียวกัน นั้นดูจะเป็นที่พึงปรารถนามากกว่า ตามสโลแกน “DIY not EMI”

0 Comments:

Post a Comment

<< Home

My Odeo Podcast