Monday, December 19, 2005

เดธเมทัล!: งานเกี่ยวกับประเภทดนตรีเวอร์ชั่นทดลอง

…ว่ากันว่าวงดนตรี ดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัล (The Eagles of Death Metal) นั้นได้ความคิดเกี่ยวกับชื่อวงของตนมาจากบทสนทนาของ เจสซี่ ฮิวจ์ (Jesse Hughes) ผู้นำวง กับคนเมาผู้หนึ่งซึ่งพยายามจะเถียงว่าวงดนตรี พอยซั่น (Poison) นั้นเป็นเดธเมทัล (Death Metal) หลังจากฮิวจ์ได้ยินดังนั้นก็บอกกับคนเมาว่าถ้าอย่างนั้น วงพอยซั่นนั้นก็คงเป็นวง ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) แห่งวงการเดธเมทัลกระมัง หลังจากนั้น เพื่อนของฮิวจ์ จอช ฮอมม์ (Josh Homme) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสโตเนอร์ร็อค (ซึ่งเป็นสมาชิกวงดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัลด้วย) นั้นก็ได้พยายามจริงจังจังกับแนวคิดดังกล่าวและพยายามผลักดันงานดนตรีดนตรีที่ราวกับว่าเป็นดิ อีเกิลส์ผสมผสาน กับเดธเมทัลออกมา และในที่สุดผลงานของ ดิ อีเกิลส์ออฟเดธเมทัลก็ออกมา

...เมื่อฟังจากคำวิจารณ์ (ขอโทษที่ผมยังหาฟังไม่ได้ แต่ก็พอคาดเดาความถูกต้องของคำวิจารณ์จากพื้นเพของสมาชิกวงได้) ดนตรีของดิ อีเกิลออฟเดธเมทัลนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวของกับเดธเมทัลเลยนอกจากชื่อ เพราะ ถ้าจะจัดประเภทอย่างหยาบๆ แล้วดนตรีของวงนี้น่าจะจัดอยู่ในพวกการาจร็อค (Garage Rock) มากกว่า…

... นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำว่าเดธเมทัลมันเข้าไปปรากฏที่สิ่งที่ไม่ใช่อย่างที่เราๆ รู้จักกันทุกวันนี้เดธเมทัล

ในปี 1984 มีอัลบั้มอัลบั้มรวมเพลงชื่นว่า Death Metal ออกมาซึ่งในนั้นมีวงงานของวง เฮลโลวีน (Helloween), รันนิ่งไวล์ด(Running Wild), เฮลแฮมเมอร์ (Hellhammer), ดาร์คอเวนเจอร์ (Dark Avenger) ซึ่งเมื่อดูจากชื่อวงและปีที่ออกก็คงจะพอเดาได้ว่างานเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่า เดธเมทัลอย่างแน่นอน แต่วงที่อาจมีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้เคียงที่สุด ก็คงจะเป็นวง เฮลแฮมเมอร์ ที่กลายมาเป็น เซลติกฟรอสต์ (Celtic Frost) อันเป็นหนึ่งในวงที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดเดธเมทัลในเวลาต่อมา (แต่ตอนนั้นก็ถูกจัดเป็นพวกสปีด/แทรชเช่นเดี่ยวกับพวกเอ็กซ์ตรีมเมทัลในยุคนั้น)

ในปี 1985 อัลบั้ม Seven Churches ของ โพสเซสด์ (Possessed) มีเพลงชื่อ Death Metal เป็นเพลงสุดท้าย ดนตรีของวงนี้ก็ค่อนข้างจะมีความหนักหน่วงรวดเร็วกว่าวงประเภทสปีด/แทรชทั่วๆไป ซึ่งผนวกกับเสียงร้องที่ค่อนข้างจะเป็นการตะโกนอย่างกระด้าง (แต่ยังไม่ใช่การสำรอก) และ เนื้อหาหาที่มีกลิ่นคาวเลือดและ ผีห่าซาตานอยู่คละคลุ้ง ก็เป็นที่ไม่ยากเลยที่คนหลายๆ คนนั้นจะมองอัลบั้มนี้ว่าเป็นเดธเมทัลแล้ว หรือ กระทั่งเป็นเดธเมทัลชุดแรก ซึ่งก็เป็นความเห็นที่หลายๆคนไม่เห็นด้วย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า สรุปว่างานชิ้นนี้เป็นเดธเมทัลใช่หรือไม่ หรือว่างานชิ้นนี้ยังอยู่ในกระแสสปีด/แทรชเมทัลในยุคนั้น ถ้าจะพูดในอีกแบบแล้วคำถามก็คือว่า สรุปว่างานชุดนี้เป็น สปีดแทรชที่หนักกว่าปกติ หรือ เป็นเดธที่เบากว่าปกติ?

ไม่ว่าจะมีการถกเถียงว่าเดธเมทัลนั้นมีจุดเริ่มตรงไหน? จุดไหนที่ความเป็นเดธที่ต่างจากสปีด/แทรชที่เป็นบรรพบุรุษของมันได้ถือกำเนิดขึ้นมา? จุดอย่างอิงที่เราแทบจะไม่ต้องเถียงกันว่า ณ จุดนี้เดธเกิดขึ้นมาแล้วก็คืองานชุดแรกอย่างเป็นทางการของวงเมทัลนามว่า เดธ (Death) ของชัค ชูลดิเนอร์ (Chuck Schuldiner) ผู้ล่วงลับ ชื่อของงานชุดนั้นคือ Scream Bloody Gore ซึ่งออกในปี 1987 ซึ่ง ณ จุดนั้นก็เป็นจุดที่เห็นชอบกันอย่างทั่วไปว่าเดธเมทัลเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ กล่าวคือไม่ว่างานก่อนงานชิ้นนี้ของวงอื่นๆ จะเป็นเดธหรือไม่ใช่ แต่งานชุดแรกของวงเดธนั้นเป็นเดธเมทัลแน่ๆ

และแล้ว ชัคนั้นก็ได้กลายมาเป็น เจ้าพ่อเดธเมทัล ทว่าก็มีการรายงานว่า จีน ฮอกแลน(Gene Hoglan) (มือกลองเมทัลในตำนานอีกคนที่เคยร่วมงานกับชัคในงานสองอัลบั้มของเดธ) นั้นกล่าวว่า ตัวชัคเองนั้นไม่เคยชอบเลยที่ถูกเรียกว่า เจ้าพ่อเดธเมทัล เพราะสิ่งที่ชัคนั้นเห็นว่าตัวเองเล่นอยู่เล่นมันก็เป็นเพียงเมทัลเท่านั้น

... ซึ่งก็ไม่แปลกที่ตัวคนมีความคิดสร้างอย่างชัคจะไม่ชอบในการถูกเรียกเช่นนั้น เพราะดูจากสิ่งที่ชัคนั้นทำในยุคหลังๆแล้วจะรู้สึกว่า คำว่าเจ้าพ่อเดธนั้นเป็นคำที่จะดูเหมาะสมกับชัคที่ผลิตงานของเดธในชุดแรกๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่ชัคทำในยุคหลังๆ นั้นดูจะเกินกว่าคำว่าเดธเมทัลไปลิบ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองไปฟังคอนโทรส ดีไนด์ (Control Denied) ซึ่งเป็นไซด์โปรเจคของชัคดู แล้วคุณก็จะเห็นได้ชัดว่าถ้าดัดเสียงร้องของชัคออกไป และเอาเสียงร้องแบบคลีนโทนเข้มๆ ที่คล้ายๆกับเสียงของวอร์เรล เดน (Warrel Dane) ในงานของเนเวอร์มอร์ (Nevermore) มาใส่ในดนตรีของเดธยุคหลังๆ แล้วเราก็จะไม่มีความรู้สึกว่างานมันมีความเป็นเดธอยู่เลย เพราะสิ่งสุดท้ายที่งานของวงเดธนั้นมีความเป็นเดธเมทัลอย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปก็คงจะเป็นเพียงแค่เสียงร้องของชัคนั่นเอง

ทั้งๆ ที่เจ้าพ่อเดธปฏิเสธความเป็นเดธของตน และทั้งๆที่บรรดาคำถามอย่าง เดธเมทัลนั้นตืออะไร? มีคุณสมบัติอะไร? นั้นดูจะเป็นสิ่งที่จะหาคำอธิบายแบบรวบยอดอันเป็นฉันทามติที่ทำให้ทุกๆฝ่ายพึงพอใจได้อย่างยากเย็นแสนเข็ญเช่นเดียวกับการหาแก่นสารของแนวดนตรีอื่นๆ ... ผู้คนที่มีความสนิทชิดเชื้อกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเดธเมทัลก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นเดธเมทัลและ อะไรไม่เป็นและก็สามารถสื่อสารกันได้

ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยหันกลับมาถามตัวเองว่าทำไมการจัดประเภทว่าดนตรีอยู่แนวไหนแนวไหน นั้นยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเราก็สามารถจะมีความเข้าใจร่วมกันในชุมชนคนฟังเพลงหนื่งๆ ทั้งๆ ที่การบอกคุณสมบัติหรือนิยามของดนตรีแนวหนึ่งๆ นั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญ และแม้จะพยายามทำมันออกมาก็จะมีข้อโต้แย้งถึงคุณสมบัติบางอย่างอันเฉพาะเจาะจงเกินไปที่จะทำให้นิยามของแนวดนตรีดังกล่าวไม่สามารถอธิบายการที่ทั่วๆไปเรานั้นจัดวงดนตรีบางวงอยู่ในแนวนั้นๆได้ จนในท้ายที่สุดก็จะเหลือเพียงนิยามที่เป็นนามธรรมมากเกินไปจนไปครอบคลุมแนวอื่นๆ ด้วย ก็จะพอสรุปได้ว่าไม่ว่าเราจะนิยามมันอย่างไร มันก็จะแคบเกินไป หรือไม่ก็ กว้างเกินไป ไม่สามารถนิยามให้พอดีได้โดยที่ทุกๆ ฝ่ายพอใจ

ผมเคยพูดถึงความไร้ศูนย์กลางของความรู้ในการจัดประเภทดนตรีไปแล้วในบทความของผม และผมเคยแก้ปัญหาพวกนี้ด้วยทฤษฎีในแบบลากองเนี่ยน (Lacanian) ด้วยการประยุกต์ใช้กรอบการอธิบายเรื่อง Symbolic กับ Real กับความเป็นไปไม่ได้ในการนิยามแนวดนตรีแบบรวบยอด ณ ที่อื่นแล้วจึงจะไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้

แต่ ณ ตรงนี้ ผมซึ่งเริ่มจากข้อสรุปดังกล่าว ก็อยากมีคำตอบให้กับตัวเองที่มากกว่าคำอธิบายที่ว่า วงดนตรีหนึ่งๆ เป็นแนวนั้นๆ เพราะเขาเรียกกันว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นเพียงเช่นนั้น ผมและคนอื่นๆ จะสามารถแยกประเภทวงดนตรีใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เคยได้ยินใครแบ่งแนวมาก่อนได้เหมือนกัน และเห็นด้วยกันได้อย่างไร? หรือว่ามันยังมีกฏเกณฑ์บางอย่างในการจัดประเภทแนวอยู่แม้ว่าการหาคำอธิบายรวบยอดจะล้มเหลวก็ตาม? มันจึงมีบทความนี้ขึ้นมา เป็นกรณีศึกษา ที่อาจจะทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมเลือกมาก็เป็นสิ่งที่ผมมีความถนัดเป็นระดับหนึ่งก็คือ เดธเมทัล


เดธเมทัลในฐานะของลักษณะร่วมของวงเกรดบี

มาถึงตรงนี้มันก็คงจะตลกถ้าผมจะนิยามว่าเดธเมทัลคืออะไร แต่ผมก็คงจะต้องทำอย่างเสียไม่ได้ ณ ที่นี้ อะไรคือเดธเมทัล? คำตอบทั่วๆไปของคำถามนี้ก็คือ ดนตรีที่มีเสียงสำรอก ไลน์กีต้าร์และเบสแบบปั่นกระฉูด ไลน์กลองแบบบลาสต์บีต (ที่หลายๆคนว่าเหมือนประทัดตรุษจีน) และ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความตาย, ภูตผีปีศาจ, ซาตาน และ การควักไส้ ซึ่งการให้ภาพเช่นนี้ ผมคิดว่าเป็นการให้ภาพของพวกที่เรียกว่าวงเกรดบีได้เป็นอย่างดี เพราะผมก็เห็นด้วยในระดับหนึ่งกับการใช้นำยามอย่างนี้กับวงเดธเกรดบีทั่วๆ ไป เพราะ ถึงนิยามดังกล่าวจะไม่บอกอะไรเราอย่างเฉพาะเจาะจงมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีวงเดธส่วนหนึ่งสามารถถูกนิยามได้ด้วยสิ่งพวกนั้นจริงๆ อย่างที่นิยามเหล่านั้นจะไม่สร้างความสับสนและไม่ไปกินอาณาบริเวณของแนวอื่นๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่แปลกอะไรกับแนวดนตรีที่อิ่มตัวแล้ว เพราะอาการที่เราจะพบว่าถ้าเอาวงมาสิบวงแล้วจะพบว่าวงนั้นเหมือนกันสักเก้าวงนั้นก็เป็นสิ่งปกติของแนวดนตรีหนึ่งๆ ในช่วงที่มันอิ่มตัวอย่างเต็มที่แล้ว ฉะนั้นผมไม่มีปัญหาอะไรกับคำอธิบายความเป็นเดธเมทัลดังกล่าวกับวงเดธดาษๆ เก้าวงเหล่านั้น เพราะ นั่นเป็นสิ่งที่แทบจะไม่ต้องเถียงกันแล้ว และ นี่กระมังที่จะทำให้ผมสามารถแยกแยะวงได้ว่าอะไรเป็นเดธ หรือ ไม่เป็น

แม้ว่าผมจะไม่มีปัญหากับไอ้พวกเก้าวงดังกล่าวเท่าใดนัก แต่คำอธิบายแบบเหมารวมดังกล่าวที่ใช้กับวงเกรดบีนั้น ไม่สามารถใช้กับวงเกรดเอหลายวงได้โดยสิ้นเชิง เพราะ คุณสมบัติบางอย่างที่มันอยู่นอกนิยามอย่างเหมารวมนั่นเองที่ทำให้วงพวกนั้นโดดเด่นขึ้นมาเป็นเกรดเอ ตรงนี้เราอาจกล่าวได้ว่า วงดนตรีเหล่านี้มีความเป็นเดธเมทัลในส่วนที่เป็นคุณสมบัติที่เหมือนกับวงเกรดบีทั่วๆไป และ มีคุณสมบัติของแนวอื่นๆ มาเจือ ผมก็ไม่เถียง แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าเราคิดว่าความเป็นเดธเมทัลคือคุณสมบัติร่วมของวงเดธเกรดบีทั่วๆไปแล้ว ผมคิดว่าเดธเมทัล (และดนตรีแนวอื่นๆ) นั้นเป็นสิ่งที่มีความน่าเบื่อมากๆ เพราะ ความเป็นตัวมันก็คือความเป็นวงเกรดบีที่อาจมีไม่รู้กีพันกี่หมื่นวงในโลก มาถึงตรงนี้ผมจึงเคยกล่าวว่ามาตรที่เราจะสามารถวัดว่าคนนั้นชอบแนวดนตรีไหนๆ จริงหรือ เปล่านั้นอยู่ที่ว่าเขาชอบวงเกรดบีในแนวนั้นหรือเปล่า

ถ้าเรานิยามแนวดนตรีหนึ่งๆ ที่ลักษณะร่วมของวงเกรดบีแล้วทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดีอย่างชัดเจนเพราะ ถ้าพูดเช่นนั้น วงเกรดเอก็เป็นเพียงแค่วงเกรดบีที่นำสิ่งอื่นๆ มาเจือปน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าวงเกรดบีนั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วๆไปไม่ฟังกัน เพราะวงดังๆ ส่วนใหญ่นั้นก็น่าจะถูกจัดเป็นวงเกรดเอ และ เมื่อคนนั้นฟังพวกวงเกรดเอจำนวนหนึ่งแล้วเหมารวมว่าลักษณะทั้งหมดของพวกวงเกรดเอนั้นเป็นลักษณะของเดธเมทัล ปัญหามันก็จะโผล่มาพอดี เพราะคนนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นเดธเมทัลที่จะหาได้โดยลักษณะโดยรวมของพวกวงเกรดบี ดังนั้นเขาจึงเหมาเอาว่าไอ้ลักษณะที่ทำให้วงเกรดเอนั้นต่างจากวงเกรดบีนั้นเป็นลักษณะของเดธเมทัลด้วย ซึ่งถ้าอธิบายในกรอบนี้แล้วมันเป็นเรื่องที่ผิดโดยสิ้นเชิง

กรณีนี้ก็อย่างเช่นการที่คนนั้นมองวงส่วนประกอบของดนตรีของไซนิก (Cynic) ว่าเป็นเดธเมทัลทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ามันไม่ใช่ เพราะส่วนประกอบอย่างคอร์ดหลายตัวโน้ต การใช้ซินธ์ เสียงร้องคลีนโทน โครงสร้างเพลงอันซับซ้อนฯลฯ ของไซนิกนั้นพอจะสามารระบุที่มาของแนวได้ว่ามาจากแนวอื่นๆ เช่น แจซ หรือ โปรเกรสซีฟ (การใช้คอร์ดที่เพิ่มตัวโน้ตนั้นเป็นลักษณะทั่วไปของแจซ โครงสร้างเพลงที่ซับซ้อนเป็นลักษณะทั่วไปของโปรเกรสซีฟ เป็นต้น)

แต่ในกรณีที่สามารถระบุแนวได้ยาก เพราะ ความเป็นเอกลักษณ์มากของมันอาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลัง สำหรับกรณีนี้ขอยกตัวอย่างวง โอบิทัวรี่ (Obituary) ที่พึงออกอัลบั้มใหม่นาม Frozen in Time (2005) หลังจากเงียบไปราวสิบปี โอบิทัวรี่นั้นมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะที่เป็นวงเดธรุ่นบุกเบิกจากฟลอริดาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง แต่ที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ เสียงร้องของ จอห์น ทาร์ดี (John Tardy) ที่เรียกว่าสำรอกได้อย่างถึงใจมาก ถึงขนาดโปรดิวเซอร์เดธในตัวนานอย่างสกอต เบิร์น (Scott Burn) ได้ยินครั้งแรกก็ถึงกับอึ้งไปเลย เสียงของ จอห์น ทาร์ดีนั้นไม่เหมือนนักร้องเดธทั่วๆ ไป (ซึ่งผมก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันทำอย่างไร) หากแต่ว่าไปละม้ายคล้ายกับเสียงของ แมกซ์ คาวาเลรา (Max Cavalera) อดีตกระบอกเสียงของวงชื่อดังแห่งบราซิลอย่าง เซปัลทูร่า (Sepultura) ในงานชุดหลังๆ ตั้งแต่ Chaos A.D. เป็นต้นมา จนถึงตอนที่แม็กซ์แยกตัวมาทำวง โซลฟลาย (Soulfly)

เป็นที่รู้กันว่า แม็กซ์ นั้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการนิวเมทัล (Nu Metal) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนส่วนหนึ่งในวงการนิวเมทัลนั้นพยายามจะเลียนแบบเสียงสำรอกของ แม็กซ์ เมื่อถึงตรงนี้ก็คงพอจะเห็นความเป็นไปได้ของเสียงสำรอกของนักร้องนำวงนิวเมทัลบางวงที่อาจไปคล้ายคลึงกับเสียงของจอห์น ทาร์ดี ในงานของโอบิทัวรี่ ซึ่งถ้าคนฟังนั้นเข้าใจว่า เสียงร้องของจอห์น ทาร์ดี นั้นเป็นเสียงร้องที่สามารถเป็นตัวแทนของเดธเมทัลทั้งก้อนได้ เขาก็อาจเข้าใจว่าวงนิวเมทัลดาษๆ วงหนึ่งที่บังเอิญพยายามร้องเสียงแบบ แม็กซ์ นั้นเป็นวงเดธเมทัลทั้งๆ ที่วงนิวเมทัลดังกล่าวนั้นไม่ได้มีคุณลักษณะอะไรที่เหมืองวงเดธเกรดบีทั่วๆ ไปเลย

เช่นเดียวกันที่ผู้เขียนเคยเถียงกับคนว่า ซิลลี่ฟูล ชุดไอคิว180 นั้นไม่ใช่เดธเมทัลและ แทบจะไม่มีอะไรที่เป็นเดธเมทัลในนั้นเลย เพราะ ทั้งดนตรีและเสียงร้องนั้นมันต่างจากเดธเมทัลในความหมายทั่วไปมาก ซึ่งในกรอบนี้ก็ต้องบอกว่าต่างจากวงเดธเกรดบีมาก หากเราขืนเรียกซิลลี่ฟูลว่าเดธเมทัล ก็มีหวังเราจะสร้างความสับสนใด้อีกเป็นขโยง ซึ่งผมจะไม่แปลกใจเลยถ้าการที่สื่อนั้นเริ่มเรียกซิลลี่ฟูลว่าเดธเมทัล จะทำให้เด็กวัยรุ่นทั่วๆไปเห็นวงไหนที่มีการตะโกนหน่อยว่าเป็นเดธไปหมด (แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือคนไทยนั้นชอบเรียกนิวเมทัลว่า ฮาร์ดคอร์ ทั้งๆ ที่มันแทบจะไม่มีอะไรฮาร์ดคอร์ในความหมายแบบตอนต้นยุค 80 เลย และสายการพัฒนาดนตรีนั้นก็ไม่ได้ใกล้เคียงกันเท่าไรด้วย ซึ่งปัญหามันจะน้อยกว่านี้ถ้าฮาร์ดคอร์พันธุ์เก่านั้นได้ศูนย์พันธุ์ลงไปแล้ว แต่มันก็ไม่แถมล่าสุดมันพึ่งเอาเชื้อเมทัลไปผสมแล้วออกมาเป็นเมทัลคอร์ [Metalcore] สร้างความสับสนให้เกิดขึ้งกับเส้นแบ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสองแนวเป็นเวลายี่สิบกว่าปียิ่งนัก)






สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นเล็กๆ น้อยๆ ก็เกี่ยวกับปัญหาของการเหมาเอาคุณลักษณะที่ไม่เกี่ยวอะไรกับแนวดนตรีหนึ่งๆ เข้าไปในแนวดนตรีหนึ่งๆ ในกรอบคำอธิบายแนวแบบลักษณะร่วมของวงเกรดบีซึ่งจะว่าไปแล้วคำอธิบายอย่างนี้ก็มีปัญหาน้อยอยู่เช่นกันเว้นเสียแต่ว่าเราจะเรียกวงที่เราเคยเรียกว่าเดธเมทัลว่าเดธเมทัลไม่เต็มปากเท่านั้น เช่น เราอาจต้องเรียกงานของ เดธ (Death) ชุดหลังๆ และ งานของไซนิกว่า โปรเกรสซีฟเดธเมทัล หรือชื่ออื่นๆที่ละเอียดกว่านี้ เรียก โอบิทัวรี่ว่า เดธที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น อาจจะยุ่งยากหน่อยแต่ก็จะมีความชัดเจนขึ้นเยอะ ซึ่งคำแนะนำของผมเป็นคำแนะนำสำหรับทุกคนที่ต้องการสื่อสารอย่างไม่สับสน ไม่ใช่เพียงแต่เป็นคำแนะนำสำหรับนักวิจารณ์เท่านั้น

ปัญหาตอนนี้ของผมคือว่าถ้าทฤษฎีนี้มันได้ผล มันจะหมายความว่าการที่ผมใช้ลากองมาอธิบายเรื่องการจัดประเภทก่อนหน้านี้นั้นพังพินาศไปโดยสิ้นเชิงหรือเปล่า? ผมว่าไม่เพราะคำอธิบายแบบลากองนั้นเป็นคำอธิบายที่ไม่มีกรอบของสิ่งที่อธิบาย กล่าวก็พยายามหาจุดร่วมของความเป็นเดธเมทัลในโลกที่เป็นไปได้ทั้งหมด (all possible worlds) แล้วมันไม่มี ส่วนที่ผมพึ่งเสนอไปเป็นการตีกรอบว่าอะไรใช่เดธเมทัลและอะไรไม่ใช่ และลองพยายามจะจัดการกับปัญหาต่างๆ เวลานำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ และก็ไม่ได้หมายความว่า เดธเมทัลสำหรับทุกคนนั้นจะเป็นเดธเมทัลสำหรับวิธีคิดแบบนี้

ดังนั้นสิ่งทั้งสองนั้นจึงเป็นการตอบปัญหาที่ต่างกันกล่าวคือ อย่างแรก นั้นพยายามจะหาคุณลักษณะร่วมของสิ่งที่เรียกว่าเดธเมทัลทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งก็ได้คำตอบคือว่าสิ่งที่เหมือนกันทั้งหมดของทุกสิ่งที่เป็นเดธเมทัลในทุกโลกที่เป็นไปได้ ก็คือการทีสิ่งเหล่านั้นถูกเรียกว่า “เดธเมทัล” เท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติใดๆ ที่เป็นสิ่งที่เดธเมทัลมีร่วมกันมากกว่านี้ การเรียกอะไรต่อมิอะไรว่าเดธเมทัลนั้นถึงที่สุดแล้วก็หาความแน่นอนไม่ได้ (contingent) เราอาจจะลืมนึกไปว่าเราได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า เดธเมทัล ก็ต่อเมื่อเราได้ใช้คำนี้ในการอธิบายสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่ามันก็แค่ดำรงอยู่ของมันภาษาได้เข้าไปเกาะเกี่ยวมันภายหลังเองซึ่งรูปแบบในการเกาะเกี่ยวนั้นก็ไม่มีความแน่นอนตายตัวอย่างไรด้วย ดังนั้นจึงไม่มีอะไรจะมารับประกันได้ว่า ทุกสิ่งที่เราเรียกมันว่า เดธเมทัลมันจะมีลักษณะอะไรร่วมกัน ถ้าจะทำให้เป็นภาษาแบบ Lacanian ก็คือ The Real consists no mode of symbolization กล่าวคือ สิ่งต่างๆ นั้นก็แค่ดำรงอยู่ของมัน การที่เราทำให้มันกลายเป็นวัตถุแห่งภาษาและกฏเกณฑ์ นั้นเป็นเรื่องที่หาความแน่นอนไม่ได้ (contingent) ดังนั้นการหาลักษณะร่วมของมันก็เป็นเพียงการหา วัตถุแห่งความเป็นอื่น (object small other/ objet petit a) ที่เป็นเศษเสี้ยวของ The Real ที่เหลือมาจากการทำให้เป็นสัญลักษณ์ (symbolization)เท่านั้น ดังนั้นการหาสิ่งดังกล่าวในระบบสัญลักษณ์นั้นจึงเป็นสิ่งที่ล้มเหลว เช่นเดียวกับการหาการสื่อความหมายร่วมของคำว่าประชาธิปไตยในโลกทุนนิยม และ โลกคอมมิวนิสต์ ในช่วงสนครามเย็น

ส่วนคำอธิบายแบบหลังนั้นเริ่มจากนิยามโดยทั่วไป ซึ่งไม่สามารถครอบคลุม วงเดธเมทัลทั้งหมดได้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่สามารถสร้างภาพวงเกรดบีได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และพยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับเดธเมทัลจากตรงนั้น และ พบว่าเหมาะสมในการนำไปใช้มากกว่า

แต่ก็แน่นอนนะครับว่าคนคงไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอของผมได้หมด หรือ อาจจะไม่เลย ดังนั้นทฤษฎีแรกจึงไม่ล่มลงไปอย่างแน่นอน เพราะยิ่งมีการใช้คำใดๆในความหมายที่หลายหลายเท่าใด มันก็ยิ่งจะหาคุณลักษณะที่ร่วมกันของการใช้ในหลายๆ โอกาสได้อย่างยากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการยืนยันว่าสิ่งๆ ต่างๆ นั้นมีความหมายแน่นอนในทุกโลกที่เป็นไปได้นั้น ก็คือ การยืนยันว่าสามารถจะบังคับใช้กฎเกณฑ์อะไรบางอย่างกับทุกโลกดังกล่าว หรือทำให้โลกในทางสัญลักษณ์ (Symbolic Universe) นั้นมีอยู่เพียงแบบเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์อะไรให้มากมายนั้นก็คงจะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงที่สุดแล้วคำอธิบายในแบบแรกนั้นยังใช้ได้อยู่ ซึ่งถ้ามีโอกาส ผมคงจะเขียนมันอย่างเป็นกิจจะลักษณะกว่านี้

การใช้เดธเมทัลในฐานะคนนอก

อย่างไรก็ตามแต่ในขณะนี้ผมก็เชื่อว่าลักษณะทั่วไปของวงเดธเมทัลก็คือลักษณะร่วมของวงเดธเกรดบี ซึ่งมันเป็นคำอธิบายที่ผมนั้นพึงพอใจทีเดียว เพราะ การที่ใครฟังวงในแนวใดๆ จนลึกไปถึงวงเกรดบีนั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนๆ นั้นฟังดนตรีแนวนั้นจริงๆ ซี่งกลุ่มคนดังกล่าวก็เป็นกลุ่มคนที่ผมนั้นสามารถสื่อสาร และแบ่งประเภทด้วยได้อย่างไม่เคอะเขิน ไม่ต้องมานั่งอธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (ซึ่งถ้าเจอคนซักมากๆ ก็จะเริ่มสับสนในตัวเองอีก) เพราะ ทุกคนมีภาพอย่างหลวมๆของวงเดธที่ได้มาจากประสบการณ์การฟังเพลงร่วมกัน ดังนั้นถ้ามีอะไรซ้อนทับกับภาพดังกล่าวนั้น ก็จะถูกเรียกว่าเดธเมทัลอย่างที่ไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันมาก

แต่ว่าการที่ผมนั้นกล่าวถึงเดธเมทัลในฐานะของวงเดธเกรดบีนั้นเป็นการเหมารวมไปเสียมาก ผมจึงต้องขอมาแจงต่อในที่นี้ เพราะว่าการพูดถึงเดธอย่างนั้นมันทำให้ผมนึกถึงพวกโอลด์สคูลเดธ หรือไม่ก็พวก บรูทัลที่เน้นการควักไส้กันไปเลย (ซึ่งวงพวกนี้มีอยู่ดาษดื่นบนโลกจนน่าตกใจ) ทั้งๆ ที่เดธเมทัลนั้นก็มีหลายแขนงที่ไม่สามารถนิยามเช่นนั้นได้แต่ก็มีชื่อเสริม เช่น โกธิคเดธเมทัล (Gothic Death Metal), ดูมเดธเมทัล (Doom Death Metal), เมโลดิคเดธเมทัล (Melodic Death Metal) เป็นต้น ซึ่งชื่อเสริมก็แสดงถึงลักษณะเฉพาะของมันได้เป็นอย่างดี และก็สอดคล้องกับคำอธิบายเรื่องความเป็นเดธเมทัลของวงเกรดบี ซึ่งส่วนผสมที่เสริมขึ้นมาของมันจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ใช่ “เดธเมทัล” เฉยๆ อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วยังเป็นที่รู้กันว่าในแต่ละท้องถิ่นนั้นเล่นเดธเมทัลไม่เหมือนกันไม่ว่าความแตกต่างจะเป็นท่อนริฟ ไลน์กลอง หรือ เสียงร้อง อาทิเช่น ซาวน์คลาสสิคของมอริสซาวน์ของพวกเดธเมทัลจากฟลอริดา (ส่วนใหญ่วงพวกนี้ออกกับ Roadrunner Records และ วงนอกท้องถิ่นมาอัดที่นี่ต้องช่วงเดธรุ่งเรืองต้นยุค 90), ซาวน์สุดโหดแบบนิวยอร์ค (เดธจากมหานครแห่งนี้มีความโหดกว่าถิ่นอื่นๆ เช่นเดียวกับวงแนวอื่นจากถิ่นนี้ เช่น พวกนิวยอร์คฮาร์คอร์) ซาวน์ของวงจากอังกฤษที่มักจะเล่นไกรนด์คอร์มาก่อน (มีวงดังน้อยกว่าถิ่นอื่นๆ แต่เป็นวงในตำนานทั้งนั้นและดนตรีแต่ละวงก็แทบจะไม่เหมือนกันเลย) หรือ จะเป็นซาวน์แบบสวีดิช (ที่ปัจจุบันต้องแยกเป็นงวงยุคเก่ากับวงยุคใหม่เพื่อความไม่สับสนแล้ว)

นี่ยังไม่นับความเป็นไปได้ของความสับสนของคนที่ไม่รู้จักไกรนด์คอร์ หรือ แบล็คเมทัล ที่อาจเรียกวงเหล่านั้นว่าเดธเมทัลอีก

ที่ผมต้องการแสดงให้เห็นตรงนี้ก็คือว่า คำว่าเดธเมทัลเฉยๆ นั้นอาจไม่บอกอะไรที่เฉพาะเพียงพอ สำหรับวงหนึ่งๆ เลย เหมือนกับการพยายามจินตนาการถึงดนตรีของวงวัยรุ่นวงหนึ่งในรายละเอียด ทั้งๆที่เรารู้เพียงแค่ว่ามันเป็นวง “ร็อค” เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในระดับที่เล็กกว่า การเรียกวงว่าเดธเมทัลนั้นก็จะมีปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าไม่พาลนึกไปว่า วงดนตรีนั้นเป็นวงเกรดบีดาษๆ เสียก่อน แต่วงเกรดบีดาษๆ นั้นก็มีต้องมีพื้นเพของมันถ้าจะนึกดีๆ เพราะ วงเดธจากพลอริดานั้นก็ไม่ได้มีแค่สิบยิ่สิบวง เช่นเดียวกับพวกบรูทัลจากนิวยอร์ค และ พวกสวิดิชเดธ ที่มีวงที่พิมพ์เดียวกันเป็นพรวน กล่าวคือ ทุกๆถิ่นหลักๆ ล้วนมีวงเดธเกรดบีที่เล่นไม่เหมือนวงเดธเกรดบีจากถิ่นอื่น ดังนั้นในแง่นี้แล้ว การเรียกเดธเมทัลเฉยๆ นั้นแทบจะไม่บอกอะไรกับเราเลย

ดังนั้นเนื่องจากความสับสนจากการเหมารวมดังกล่าวผมอาจกล่าวได้หรือ เปล่าว่าก็เรียกวงดนตรีว่าเดธเมทัลเฉยๆโดยไม่ระบุนั้น เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับคนนอกเดธเมทัล ที่ผมใช้คำว่าเกี่ยวกับเพราะว่ามันอาจจะเป็นกิจกรรมของคนนอก หรือในก็ได้ บางที่คนในก็ต้องแสดงตัวให้คนนอกเห็นสำหรับคนนอกที่ฟังเพลงไม่หนักมาก คนเดธก็อาจกล่าวเพียงว่าตนนั้นเป็นคนฟังเมทัล สำหรับคนเมทัลด้วยกันก็อาจกล่าวว่าเป็นคนฟังเดธ สำหรับคนเดธด้วยกันก็อาจกล่าวว่าตนนั้นชอบเมโลดิคเดธแบบสวีดิช ไม่ชอบพวกบรูทัลเพราะมันฟังไม่รู้เรื่อง เป็นต้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างที่จะเห็นได้จริงๆ เพราะ ขืนเราทำการเฉพาะเจาะจงไปกับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเราก็ต้องมาอธิบายให้ยืดยาวอีกซึ่งจะรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราจึงต้องประเมินความรู้ของผู้ที่เราจะสื่อสารด้วยก่อนที่จะทำการสื่อสาร ถ้าประเมินไม่ได้ก็ต้องตอบกลางๆ ไม่ก่อน ผมคนหนึ่งแหละที่จะไม่ตอบคู่สนทนาที่ผมพึ่งรู้จักในคำถามที่ว่า คุณชอบฟังเพลงแนวอะไร ด้วยคำตอบอย่าง “พวกสวีดิชเมโลดิกเดธ กับ พวกอวองการ์ด” เพราะ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะคาดหวังให้คนทั่วไปเข้าใจ สิ่งที่ผมจะตอบไปกับคำถามเดียวกันก็อาจเป็น “พวกเมทัลหนักๆ กับ พวกงานแปลกๆ” เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผมคาดหวังให้คนทั่วไปเข้าใจในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาอยากรู้เขาก็จะถามต่อเอง

นี่ก็เป็นวิถีในการปฏิบัติตัวของผมเท่านั้นผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ ปฏิบัติตัวอย่างผมหรือ เปล่า แต่เท่าที่ผมรู้จักคนฟังเพลงมาหลายคนอยู่ ก็ยังไม่เคยมีใครบอกแนวที่ตนสังกัดอยู่ในช่วงแรกของบทสนทนาครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นการบอกกว้างๆ แล้วลองภูมิกันไปลองภูมิกันมาด้วยการแย็บคำถามจนในที่สุดนั้นก็รู้ใส้รู้พุงกันมากกว่า และ เมื่อผมรู้แล้วว่าพวกเขาฟังอะไร เมื่อมีคนถามผมผมก็จะกรองคำตอบอีกที่ให้เข้ากับความสามารถในการเข้าใจของคนถาม เพราะ ถ้านาย ข. เพื่อนผมที่ฟังแต่เพลงป็อป ถามว่า นาย ก. (ซึ่งเป็นเพื่อนผมที่ฟังแต่พวก นิวยอร์กบรูทัล) ฟังเพลงแนวไหน แล้วผมตอบว่านิวยอร์กบรูทัล นาย ข. ก็คงงงเป็นไก่ตาแตกว่าไอ้นิวยอร์ก บรูทัลนี่มันคืออะไรหว่า แล้วผมก็ต้องมานั่งอธิบาย ว่ามันเป็นเดธพวกหนึ่ง ถ้านาย ข. ยังไม่เข้าใจอีก ผมก็คงต้องอธิบายว่า เดธเมทัลนั้นมันเป็นดนตรีเมทัลจำพวกหนึ่ง ถ้ามันยังไม่เข้าใจอีกอีกผมก็คงต้องถามว่า มึงรู้จัก “ดนตรีร็อค” ไหม? ถ้ามันบอกว่าใช่ ผมก็คงบอกว่า เมทัลมันก็เป็นร็อคหนักๆ ประเภทหนึ่ง ถ้ามันยังบอกว่าไม่รู้จักอีก ผมก็คงต้องตบกบาลมันซักฉาดหนึ่งแล้ว บอกมันว่า ไอ้ห่า ดนตรีร็อคมันก็เป็นป็อปคัลเจอร์นะโว้ย! มึงไม่ฟังมึงก็ช่วยรู้จักหน่อยสิวะ!

นี่ก็เป็นกรณีที่สุดขั้วอยู่นะครับ เพราะในปัจจุบันที่ป็อปคัลเจอร์ได้กระจายไปทั่ว คงจะไม่มีใครไม่รู้จักดนตรีร็อคถ้าเขายังเข้าถึงสื่อมวลชนอยู่ แต่คนไม่รู้จักเมทัลผมค่อนข้างมั่นใจว่ามีแน่นอน ซึ่งคนเหล่านี้ก็อาจเห็นวัฒนธรรมเมทัลเป็นส่วนหนึ่งของร็อคเท่านั้น ก็ไม่ว่ากัน แต่ก็ขอให้รู้นิดนึงว่า โดยทั่วไปแล้วคนชายขอบนั้นไม่ชอบการถูกเหมารวมนะครับ ยิ่งการถูกเหมารวมกับศูนย์กลางแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่น่าคลื่นไส้เข้าไปใหญ่ ดังนั้นการไม่แยกแยะระหว่างวงป็อปพังค์ตามเอ็มทีวี, วงร็อคตลาดไทย หรือ วงนิวเมทัลที่ทำงานสุดจะขายออกมา ออกจากพวกวงเอ็กซ์ตรีมเมทัล พวก แมธคอร์ (Mathcore) พวกไกรนด์คอร์ พวกเดธเมทัล พวกแบล็คเมทัล มันจึงเป็นเรื่องที่สร้างความไม่พอใจได้นะครับ ไม่ใช่เหมาว่าวงมันแต่งตัวไว้ผมคล้ายกันแล้วจะเล่นดนตรีเหมือนกันหมด คุณอาจจะคิดได้แต่การที่คุณแสดงมันออกมามันอาจสร้างความไม่พอใจได้ในระดับหนึ่งเลยนะครับ เดี่ยวจะหาว่าผมไม่เตือน

Thursday, December 01, 2005

การจัดประเภทดนดรีในฐานะการเหมารวม...ที่จำเป็น?

หลังจากอ่านบทความมากมายที่ “เว้นระยะ” ของตัวผู้เขียนและบทความกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ร็อค” ผมก็รู้สึกว่าผม่ต้องเขียนงานอีกชิ้นที่มีความคาบเกี่ยวกับประเด็นที่ผมเล่นมาจนเบื่อแล้วอย่างการจัดประเภทดนตรี ผมขอเริ่มจากที่ผมเคยเสนอไปในบทความของผมแล้วนะครับ

ประการแรก ผมเสนอว่า ความรู้เรื่องการจัดประเภทดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ศูนย์กลาง เราไม่สามารถไล่ไปจนถึงสถาบันที่ผลิตความเป็นจริงเรื่องประเภทของเพลงได้อย่างเด็ดขาด เพราะการผลิตสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไร้ซึ่งศูนย์กลางเป็นอย่างมาก

ประการที่สอง ผมเสนอว่า เรามักจะเรียนรู้ว่าอะไรอยู่ในดนตรีแนวไหนมากกว่าที่เราจะเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ที่เราใช้แบ่งว่าดนตรีแนวไหนคืออะไร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราจะพยายามสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมารองรับ การจัดประเภทที่เราใช้ แล้วพอเราต้องการที่จะรวบยอดคำอธิบาย (กล่าวคือหาลักษณะร่วมของทุกสิ่งที่เราจัดว่าอยู่ในแนวเดียวกัน) เราก็จะพบว่าเป็นไปไม่ได้ หรือ ถ้าเป็นไปได้มันก็จะกินความเกินไปจนแทบจะไม่บอกอะไรเราเลย และ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นิยามดังกล่าวมันก็จะไปกินความถึงดนตรีที่เราไม่ได้จัดมันไว้ในประเภทดังกล่าวอีกด้วย

แน่นอนว่าสิ่งที่ผมพยายามเสนอนั้นเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะให้มันใช้ได้ในทุกกรณี ผมเห็นอย่างชัดเจนว่าประเด็นเรื่องชายขอบ และ ศูนย์กลางนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ทฤษฎีของผมนั้นจะเน้นไปที่คำอธิบายเรื่องชายขอบเหล่านี้มากกว่า เพราะ คงไม่มีใครเถียงว่า เมทัลลิกา (Metallica) ในยุคแรกๆ นั้นเป็น สปีด/แทรชเมทัลแท้ๆ แต่งานชุดหลังๆ นั้นเป็นเมทัลประเภทไหนก็คงต้องมาถกกัน เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า แพนเทร่า (Pantera) เป็นเมทัลอะไรกันแน่ เพราะ เท่าที่ผมเคยได้ยินคนจัดประเภทวงนี้ ผมได้ยินมาประมาณสี่แนวเป็นอย่างต่ำ เริ่มมาจาก พาวเวอร์เมทัล (Power Metal) แทรชเมทัล (Trash Metal) โพสต์แทรชเมทัล (Post-Trash Metal) สลัดจ์เมทัล (Sludge Metal) (แต่อย่างน้อยๆ ผมก็ไม่เคยทะเลาะกับใครว่า สรุปว่าแพนเทร่าเป็นอะไรกันแน่ เหมือนที่ผมเคยเถียงอย่างตัวชนฝากับคนที่เรียก เรดฮอทชิลลี่เป๊ปเปอร์ (Red Hot Chili Pepper) ว่า ฟังค์เมทัล (Funk Metal) เพราะสำหรับผมในตอนนั้นแล้วเรดฮอทฯนั้นไม่มีอะไรที่ดูจะเป็นเมทัลเลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นวงที่ผมชอบวงหนึ่งก็ตาม)

แน่นอนถ้าเราเห็นว่าทั้งแพนเทร่า และ เมทัลลิก้า เป็นเพียงแค่วง “เฮฟวี่เมทัล” สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นก็จะไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาของผมคือไอ้ “เฮฟวี่เมทัล” ดังกล่าวนั้นมันบอกอะไรกับเราบ้าง เพราะ ในการจัดประเภทในบางรูปแบบนั้น คำว่า “เฮฟวี่เมทัล” นั้นได้รวมไปถึงวง ครีม (Cream) ของป๋าแคลปตัน หรือ วงในตำนานอย่างเลดแชปปลิน (Led Zeppelin) และ ดีฟเพอร์เพิล (Deep Purple)ไว้ด้วย

ดังนั้นในแง่นี้แล้วภายใต้คำว่าเฮฟวี่เมทัลนั้นคงจะไล่ตั้งแต่ เลดแชปปลิน ไป ไอรอนไมเดน (Iron Maiden) โผล่ เมทัลลิกา จนอาจกินความหมายไปถึงพวก นิวเมทัล (Numetal) อย่าง คอร์น (Korn) หรือ ลิมฟ์ บิสกิต (Limp Bizkit) ที่ทำให้ชาวเมทัล “พันธุ์แท้” นั้น ขยะแขยงไปนักต่อนักแล้ว

ถ้าคุณพอจะเคยฟังวงที่ผมกล่าวมาแล้วบ้างคุณก็คงจะรู้ว่ามันแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลยนอกจาก เครื่องดนตรีที่ใช้ คือ กีต้าร์ (เสียงแตก) เบส และ กลอง (ความ “หนัก” ของดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำ) แต่ถ้าคุณนั้นยังไม่เห็นความแตกต่างผมก็ไม่แปลกใจที่คุณนั้นใช้คำว่าเฮฟวี่เมทัลเรียกวงเหล่านี้ เพราะนั่นแสดงถึงจุดที่คุณมองจากข้างนอกเมทัลได้เป็นอย่างดี เพราะ เท่าที่ผมเคยรู้จักคนฟังเมทัลมา แทบไม่มีใครใช้คำว่าเฮฟวี่เมทัลในความหมายที่กว้างขนาดนั้น เพราะมันรังแต่จะสร้างความสับสน การใช้คำว่า เฮฟวี่เมทัล มักจะใช้กับวงรุ่งบุกเบิกจากอังกฤษอย่าง แบล็คซับบาธ (Black Sabbath), มอเตอร์เฮด (Motorhead) และ ไอรอนไมเดน และ วงที่มีความหนักหน่วงใกล้เคียงกัน เพราะ วงก่อนหน้านั้นมักจะถูกจัดเป็นฮาร์ดร็อค ซึ่งก็หมายถึงวงอย่าง เลดแซปปลิน ครีม ดีฟเฟอร์เพิล ด้วย และ วงหลังจากนั้น ก็จะมีหมวดย่อย (Sub-Genre) บอกชัดเจน เช่น เมทัลลิกา เป็นแทรชเมทัล, แคนเดิลแมส (Candlemass) เป็นดูมเมทัล (Doom Metal), สปิริทชวลเบกการ์ (Spiritual Beggars) เป็นสโตเนอร์เมทัล (Stoner Metal), อนาเธมา (Anathema) เป็นโกธิคเมทัล (Gothic Metal), อินเฟลม (Inflames) เคยเป็นเมโลดิดเดธเมทัล (Melodic Death Metal), คานนิบาลคอร์ปส์ (Cannibal Corpse) เป็นบรูทัลเดธเมทัล (Brutal Death Metal) หรือ เมย์เฮ็ม (Mayhem) เป็นแบล็คเมทัล (Black Metal) เป็นต้น

แน่นอนว่ายังสามารถแบ่งลงไปได้ละเอียดมากกว่านี้อีกแต่เท่านี้ก็คงเพียงพอที่จะจินตนาการได้ว่าการเหมารวมทั้งหมดที่กล่าวมานั้นว่าเป็น “เฮฟวี่เมทัล” ทั้งหมดนั้น มันตัดข้ามความแตกต่างไปขนาดไหน นี่ยังไม่รวมการเรียก “เฮฟวี่เมทัล” ว่าเป็น “ร็อค” อีกที่จะสร้างความไม่ชัดเจนเพิ่มขึ้นไปอีก

ประเด็นของผมตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคำว่า เฮฟวี่เมทัล หรือ คำว่า ร็อคนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ แต่การใช้คำเหล่านั้นไม่ได้บอกอะไรที่ชัดเจนไปมากกว่าที่ว่าวงดนตรีที่คุณพูดถึงนั้นมีการใช้กีต้าร์ไฟฟ้าเสียงแตก เบส และ กลอง นี่ยังไม่รวมถึงภาพของนักดนตรีเฮฟวี่ที่สวมชุดหนังโซโล่กีต้าร์ – ที่ในความเป็นจริงแทบจะศูนย์พันธุ์ไปหมดแล้ว – ที่มักจะถูกเชื่อมโยงกับความเป็นเฮฟวี่ อันเป็นการสร้างภาพแช่แข็งความเป็นเฮฟวี่ไม่ต่างจากการสร้างภาพแช่แข็งของชนเผ่าต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกที่มองข้ามพลวัตรของคนเหล่านั้นไป

อาจเรียกได้ว่าการมองแบบเหมารวมดังกล่าวนั้นเป็นการมองของ “คนนอก” ไปยัง “คนใน” โดยแท้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่หน้าที่กงการอะไรของผมที่จะบังคับให้คนนอกนั้นต้องเข้าใจคนใน แต่สิ่งที่ผมต้องแสดงให้เห็นก็คือ การกระชากหน้ากากของความเป็นผู้รู้ของบรรดาคนนอกที่ผลิตความรู้เกี่ยวกับคนในออกมา ให้คนนอกคนอื่น ผมขอย้ำว่าผมไม่ได้กล่าวว่าความรู้ดังกล่าวนั้นผิดเพราะผมไม่สามารถหาจุดยืนที่เป็นกลางพอที่จะตัดสินได้ ผมเพียงแต่กล่าวว่า การมองคนในจากข้างนอกนั้นจะได้ภาพที่แตกต่างไปจากการที่คนในนั้นมองกันเอง หรือ ถ้าจะไปให้ไกลว่านั้นแล้ว สิ่งที่ถูกมองว่า เป็นคนใน นั้น ก็ยังมีความเป็นคนนอก คนในในตัวของมันอยู่ เช่น ภายใต้คนที่ถูกมองว่าเป็นเฮฟวี่นั้น ก็มีจารีตที่ต่างกัน พวกเดธเมทัลเหมารวมพวกแบล็คเมทัลโดยไม่แบ่งแยก พวกแบล็คเมทัลเหมารวมพวกเดธเมทัลโดยไม่แบ่งแยก พวกที่ฟังเฮฟวี่ดั้งเดิมไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง เดธเมทัล แบล็คเมทัล และ ไกรนด์คอร์ (Grindcore) เป็นต้น

ที่ผมพูดนี่ผมไม่ได้ยกมาลอยๆ นะครับผมประสบมากับตัวเองทั้งหมด ผมตระหนักดีว่าการเหมารวมนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่สุดแต่ผมก็เกลียดมันสิ้นดี ผมได้แต่หวังว่าคนเรานั้นจะเหมาะรวมกันให้น้อยกว่านี้ และ ขยายพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายมากกว่านี้ เวลานี้ผมก็ได้แต่เพียงกระชากหน้ากากของการเหมารวมในอาณาบริเวณของผม แม้ว่าผมจะรู้ดีว่าผมกำจัดมันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมจะไม่สามารถลดทอนมันเพื่อให้สภาวะที่ดีขึ้นนั้นเป็นไปได้ ผมไม่ใช่พวกที่ตั้งเป้าไว้หรูๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้ เพื่อจะทำให้ทุกสิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเคยเป็น คือ การพยายามไปให้ถึงเป้าที่สวยงามดังกล่าวแล้วก็ล้มเหลวอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมว่าเรานั้นไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายอันไปถึงไม่ได้ที่เราแสร้งว่าเราสามารถไปถึงได้ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่

ในที่สุดแล้วการเหมารวมในการจัดประเภทดนตรีก็คงจะมีต่อไป ผมก็คงได้แต่เพียงชี้แจงอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเบื้องหลังการเหมารวมนั้นมีความแตกต่างหลากหลายซ่อนอยู่ และ ก็ต้องระวังไม่ให้ตนเองนั้นทำการเหมารวมไม่ว่ามันจะเป็นการเหมารวมในอาณาบริเวณไหนก็ตามแต่
My Odeo Podcast